Skip to main content

หลังประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีและลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเมื่อปี 2551 ล่าสุด ครม.เห็นชอบให้ลงสัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับ เอื้อคนพิการร้องเรียน UN ได้โดยตรงหากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องสิทธิคนพิการ

19 เม.ย.2559 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอให้ดำเนินการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ดังนี้

1. ให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายดำเนินการจัดทำ ภาคยานุวัติสารดังกล่าวต่อไป

พิธีสารดังกล่าวเป็นกลไกเพื่อทำให้การคุ้มครองสิทธิของคนพิการสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้น 18 ข้อบทประกอบด้วย กระบวนการร้องเรียนโดยปัจเจกบุคคล (Individual communication) และกระบวนการการไต่สวน (Inquiry)

นอกจากนั้นพิธีสารฯยังเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนพิการหรือองค์กรคนพิการสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และสามารถเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการได้โดยตรง  ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการจะไม่รับข้อร้องเรียนที่เคยได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการตรวจสอบหรือเสร็จสิ้นการตรวจสอบแล้ว โดยกระบวนการในการสอบสวนหรือไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศและเป็นข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นก่อนที่พิธีสารเลือกรับนี้จะมีผลบังคับใช้ในรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียนของคณะกรรมการจะมีการตรวจสอบข้อมูล โดยที่ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐภาคีด้วย

ข้อร้องเรียนต่างๆ จะถูกพิจารณาในการประชุมแบบปิด และไต่สวนกระทำโดยลับ และร่วมมือกับรัฐภาคีในทุกขั้นตอนกระบวนการไต่สวน

ธีรยุทธ สุคนธวิท เลขานุการสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนผู้ร่วมเดินทางไปรายงานเกี่ยวกับมาตรการในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา CRPD ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีและลงสัตยาบันต่อ CRPD รวมทั้งได้ทำการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ยังเหลืออีกเรื่องหนึ่งคือการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้คนพิการสามารถร้องเรียนตรงไปยังคณะกรรมการ CRPD ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนได้ (OHCHR) ในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิคนพิการโดยที่รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เรื่องการติดลิฟต์บีทีเอสที่ไม่เสร็จตามศาลส่งภายในหนึ่งปี ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้

เขากล่าวว่า การดำเนินการการเพื่อให้รัฐบาลไทยผ่านการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับนั้น มีความพยายามมากว่า 2 ปีแล้ว หากการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับนี้เสร็จสิ้น คนพิการไทยก็จะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และได้รับหลักประกันมากขึ้น โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.อนุมัติ คือการส่งหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แล้วถึงจะสามารถผ่านเรื่องไปถึงองค์การสหประชาชาติต่อไป

เขากล่าวว่า ปัญหาหลักๆ ที่พบที่ทำให้การผลักดันการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับนั้นค่อนข้างล่าช้าเนื่องจาก รัฐบาลไทย ไม่ค่อยมั่นใจในกลไกดังกล่าว และมีข้อบกพร่องที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถทำตามได้ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย และภาคปฏิบัติทั้งหมดว่าจะรองรับและขับเคลื่อนได้ ทั้งในเรื่องความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคม เพราะที่ผ่านมา CRPD ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จะมีเพียงกลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องกลุ่มเล็กๆ ที่เข้าใจและติดตาม

อีกส่วนเป็นเพราะการเมืองนั้นไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนรัฐบาล คสช. จึงทำให้เกิดความล่าช้าและขาดความต่อเนื่องในการผลักดัน

จากการรายงานผลการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา CRPD ธีรยุทธกล่าวว่า ทาง OHCHR ได้มีความเห็นหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ การมีส่วนร่วมของเด็กและสตรีพิการ ว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และจะมีข้อสังเกตอื่นๆ เพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรสะท้อนกลับมายังรัฐบาลไทย เพื่อให้ติดตามและปรับปรุง ทั้งนี้ หลายประเทศต่างแสดงความเป็นห่วงต่อการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของคนพิการในประเทศไทย อีกทั้งเรื่องของการออกกฎหมายต่างๆ ที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

นอกจากนั้น ครม.ยังมีมติมีมติเห็นชอบตามที่ พม. เสนอการดำเนินการเกี่ยวกับสนธิสัญญามาร์ราเคชตามที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ได้ให้การรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาสำหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อพิมพ์ (Marrakesh Treaty to Facilitate Access to Published Works for Persons Who Are Blind, Visually Impaired, or Otherwise Print Disabled : MVT) เพื่อให้รัฐภาคีสามารถทำซ้ำ แจกจ่ายหรือจำหน่ายรวมถึงเผยแพร่งานที่มีโฆษณาที่อยู่ในรูปแบบซึ่งทุกคนรวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้