3 ธันวาคม ของทุกปี วันคนพิการสากล (International day of persons with disability) กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 โดยมีชื่อเดิมว่า ‘International Day of Disabled Persons’ ถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของจุดมุ่งหมายแห่งความเข้าใจในเรื่องความพิการ การช่วยเหลือ สิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ นอกจากนั้นวันนี้ ยังเป็นวันยังเป็นวันแห่งการบูรณาการการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหวังในการทำให้สังคมตระหนักถึงความ ‘เท่าเทียมของโอกาส’ การฟื้นฟู และป้องการความพิการ โดยมีแผนการทำงานคือ ‘เน้นการมีส่วนร่วมและก่อให้เกิดความเท่าเทียม’ อีกทั้งยังต้องการที่จะปกป้องสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ เท่าเทียมกับประชากรคนอื่นๆ ร่วมทั้งคาดหวังให้มีความเท่าเทียมและการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
ในปี 2015 นี้ สหประชาชาติได้ให้นัยยะสำคัญเนื่องในวันคนพิการสากล ไว้ว่า ‘ Inclusion matters: access and empowerment for people of all abilities’ ซึ่งธีมนี้มีความน่าสนใจในชื่อที่มีความคล้ายคลึงกับแคมเปญ "Black Lives Matter" หรืออีกชื่อว่า ‘ ชีวิตคนผิวดำก็มีความสำคัญ’ โดย ‘Inclusion matters’มีสาระสำคัญ ที่กล่าวถึง คนพิการกว่าพันล้านคนที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียม ทั้งด้านการขนส่ง การจ้างงาน การศึกษาหรือแม้แต่สังคมและกิจกรรมทางกฎหมาย มุ่งหวังให้เกิดสิทธิของผู้พิการที่จะใช้ชีวิตอิสระในสังคมและดำเนินกิจกรรมทางสังคม โดยส่งเสริมความเท่าเทียมให้มากขึ้น

เอ็ด โรเบิร์ต
เอ็ด โรเบิร์ต(Ed Roberts) เป็นนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ‘บิดาแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ’ (Father of the independent living movement) ผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของผู้พิการ (Disability right movement) นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้พิการคนแรกที่เข้าเรียนใน มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เมืองเบิร์กเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชารัฐศาสตร์
“สิ่งที่ผมและคนพิการคนอื่นๆต้องการเหมือนกันคือ ได้อยู่ในที่ที่อยากอยู่ ไปทำงาน เล่นสนุกสนาน ตกหลุมรักและแต่งงาน” เขากล่าว
สองปีหลังจากจบมัธยม เขาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และได้รับการตอบรับทันทีโดยไม่สนใจเรื่องความพิการของเขา แต่เมื่อเขามาถึง กลับโดนปฏิเสธการเข้าเรียนด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เครื่องช่วยหายใจ’ซึ่งเสมือนเป็นปอดเทียมของเขาไม่สามารถจัดวางภายในหอพักได้ แต่ในที่สุดชัยชนะก็เป็นของเขา เมื่อได้รับความช่วยเหลือผู้อำนวยการศูนย์พยาบาลของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้เขาและเครื่องช่วยหายใจไปพักอาศัยด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีนักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจและมีความต้องการที่จะย้ายผู้พิการออกจากการอาศัยในศูนย์พยาบาล พวกเขาจัดตั้งองค์กร และให้บริการ เช่น การซ่อมรถเข็น ผู้ช่วยคนพิการ นอกจากนั้นเอ็ดยังมีความพยายามในการหาช่องทางการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการ จนในที่สุดก็เกิดแผนการเรียนพิเศษสำหรับนักศึกษาที่มีความพิการ รวมทั้งเขายังเป็นริเริ่มในแนวคิด ‘ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ’ (CIL : Center for independent living) ด้วย
ปี ค.ศ.1971 CIL เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและกว้างขวางด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีบริการจัดหาผู้ช่วยคนพิการ การฝึกทักษะการใช้ชีวิต การให้คำปรึกษาด้วยการให้ผู้ที่มีประสบการณ์ความพิการใกล้เคียงกัน ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ เมืองเบิร์กเล่ย์กลายเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้คนพิการหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอีกด้วย นอกจากการกระจายตัวของระบบองค์กรของเขาภายในประเทศแล้ว CILยังกระจายตัวไปอีกหลายเมือง และในอีก 13ปีต่อมา แนวทางการดำรงชีวิตแบบอิสระของเขาก็ได้ขับเคลื่อนไปทั่วโลกนอกจากนั้น ผลของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการใช้บังคับใช้ ‘Americans with Disabilities Act’ ในปี ค.ศ.1990 (ถูกพัฒนามาจาก Civil Rights Act และ มาตรา 504) ซึ่งกฎหมายนี้เป็นต้นแบบของกฎหมายคนพิการในหลายๆประเทศในเวลาต่อมา
ในปัจจุบัน ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของผู้พิการกว่าร้อยแห่งทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ยังคงดำเนินตามแบบแผนดั้งเดิมของเอ็ด โดยมีจุดมุ่งหมายให้ คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/United_Nations'_International_Day_of_Persons_with_Disabilities
http://www.wid.org/about-wid/booklet%20with%20speech.pdf
http://www.un.org/disabilities/default.asp?id=1637
https://en.wikipedia.org/wiki/Ed_Roberts_%28activist%29