Skip to main content

10 ธ.ค.2565 Thisable.me, ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) และประชาไท จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ผิดไหมถ้าฉันจะรัก” เสวนาว่าที่ว่าด้วยเสรีภาพในความรักของคนพิการ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องความรักและความพิการ ที่ร้านดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน คือ ชวนคุยกับ ออม-รณภัฏ วงศ์ภา, เจิน-ชมพูนุท บุศราคัม และเก่ง-ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี ดำเนินรายการโดยอธิพันธ์ ว่องไว

ชมพูนุท บุศราคัมหรือเจิน นั้นทำงานด้านการตลาดและการสื่อสาร เธอพิการจากอุบัติเหตุตอนคลอด เนื่องจากเอาขาออกจึงช่วงสะโพกหลุดต้องผ่าตัดและเดินไม่ได้ และตอนนี้ก็เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

ณรงค์ศิลป์ ล้านศรีหรือเก่ง เป็นทีมสื่อสารมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่พิการทางการเคลื่อนไหวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว

รณภัทร วงศ์ภาหรือออม ทำงานที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณทล เขาพิการหลังถูกกระสุนยิงเข้าไขสันหลังจนทำให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ตอนนี้เขายังไม่มีแฟนและมีบ้างที่แอบรักข้างเดียว

รักคืออะไร

เก่งมองว่า รักคือการแชร์ซึ่งกันและกัน ในขณะที่ออมมองว่า รักไม่ต้องมีรูปแบบเพราะเกิดขึ้นตามธรรมธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับความสุขของคนคนนั้น ซึ่งสามารถปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่ง เจินมองว่า รักคือการเป็นพาร์ทเนอร์กัน แชร์เรื่องราวของกันและกัน อยู่ด้วยกันและปรับตัวเข้าหากัน ใช้อีกครึ่งหนึ่งของชีวิต แชร์ความทรงจำ แชร์ความสุข เป็นคนคอยรับฟัง

ประสบการณ์ความรัก

เจินนั้นมีทั้งประสบการณ์มีแฟน แอบรัก หรือคนคุย แต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกัน เมื่อเธอเป็นคนนั่งวีลแชร์หลายครั้งเธอไม่กล้าบอกว่าแอบชอบ เธอเล่าว่าตอนมีแฟนก็เป็นช่วงชีวิตที่แฮปปี้ดี เพราะเจอคนที่ดูแลดี เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี หลังจากคบกันมาสองปี เขาบอกว่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้รักแต่แค่สงสาร คำพูดนี้สร้างคำถามในใจว่าที่ผ่านมาคืออะไร ยิ่งเพราะมีความพิการ เธอยิ่งรู้สึกลดทอนคุณค่าในตัวเองจากคำว่าสงสารจากคนที่เข้ามาในชีวิต เธอรู้สึกว่าการนั่งวีลแชร์เป็นเงื่อนไขที่ต้องคิด ยิ่งเวลาไปไหนแล้วแฟนต้องเป็นฝ่ายช่วยเมื่อสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อ อีกฝ่ายอาจคิดว่าต้องดูแลเยอะ เธอจึงมองว่า ถ้าสภาพแวดล้อมรอบตัวพร้อมกว่านี้ ก็อาจจะเจอความรักที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น

หลังจากคำพูดว่าสงสารก็ทำให้การคบใครนั้นยากขึ้น เจินเล่าว่าสิ่งนี้เปลี่ยนทัศนคติเรื่องความรัก ก่อนหน้านี้เธอเคยมองว่าคนสองคนที่อยากอยู่ด้วยกันแค่รักกันก็จบ แต่พอเจอคำนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่แค่คำว่ารักอย่างเดียว แต่ปัจจัยอื่นก็มีผลต่อความสัมพันธ์อย่างมาก

ออมเล่าว่า ความรักหลังจากพิการในช่วงแรกมีแฟนเป็นคนซัพพอร์ททุกอย่าง เช่น ขับรถมารับ แต่วันหนึ่งก็รู้สึกว่า อยากเป็นคนที่ดูแลเขาบ้าง จึงตัดสินใจขับรถ ตอนมีความสัมพันธ์เจอกับอุปสรรคเรื่องครอบครัวอีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับ กลายเป็นไม่กล้าเปิดเผยเรื่องความรักให้พ่อแม่รู้ พอผ่านไปหลายปีก็เริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งนี้คือความรักหรืออะไร สุดท้ายพอโควิด-19 เข้ามาก็เริ่มห่างกัน แล้วก็เลิกกัน นอกจากความห่างที่ทำให้เลิกกัน ความพิการก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แฟนมองว่า ไม่สามารถดูแลได้

เก่งเล่าความรักในมุมมองของ LGBT+ ว่าก่อนหน้านี้ไม่กล้าเปิดตัว แม้แต่หลังพิการก็ยังไม่กล้า เขาไม่ยอมรับตัวเอง ทำทุกอย่างอย่างแอบๆ ช่วงแรกเวลาแอบชอบใครเขาจะไม่เปิดเผยความพิการ จนวันหนึ่งมั่นใจที่จะบอกทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดเลย เจอทั้งการให้กำลังใจ สงสาร และเฟดตัวหายไป สิ่งนี้เป็นบทเรียนมาเรื่อยๆ ว่าการเป็น LGBT+ ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ความสุขของเรา ชีวิตของเรา ถ้าคนอื่นมีความสุขได้ เราก็ควรให้เกียรติตัวเองให้มีความสุขได้เหมือนกัน เราเป็นคนที่ไม่เคยสมหวังในความรัก แต่ยังเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความรักสมบูรณ์ได้ต่อให้สังคมตัดสินตีตรา มีหลายช่วงของชีวิตโดยเฉพาะตอนก่อนกลับไปเรียนหนังสือ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยอมรับกับความเศร้าของตัวเอง โชคดีที่มีเพื่อนดี ให้พลังใจและจินตนาการในการโอบกอดตัวเอง พอเราได้คิดตามว่าอยากจะมีชีวิตอย่างไร จากวันที่ล้มเหลวในชีวิตก็เริ่มหาหนทางเพื่อไปถึงชีวิตที่เราต้องการจริงๆ”

คนพิการไม่มีใครรักจริงหรอก

เจินเล่าว่า ไม่ต้องเป็นคนพิการก็โดนหลอกได้ เธอมองว่าทุกครอบครัวก็ห่วงลูกว่าถ้าอยู่กับคนนี้จะดูแลลูกเราได้หรือเปล่า โชคดีที่ครอบครัวของเธอค่อนข้างเปิด ถ้าใครรักได้เท่าที่ครอบครัวรัก ก็ไม่ติดเลย

“หากถามว่าเป็นคนพิการจะไม่ถูกรักหรือเปล่า เราไม่เชื่อ คนเกิดมาด้วยด้วยความรัก ไม่ว่าความรักจากเพศตรงข้ามหรือคนรอบข้าง คนพิการก็ถูกรักได้ เรายังเชื่อว่าสักวันจะเจอคนที่รักในแบบที่เราเป็น”

เก่งเล่าว่า แม่ของเขามักพูดว่า ถ้าเก่งไม่พิการมีแฟนไปเยอะแล้ว พอพิการแม่บอกว่าต้องหาเงินเยอะๆ ก็จะมีคนมาชอบหัวกระไดไม่แห้ง ในขณะที่ตัวเก่งมองว่า ถ้าคนพิการสามารถดูแลตัวเองได้ เรื่องความรักก็จะมีเอง

ออมเองมองว่า ไม่กลัวถูกหลอกเพราะทั้งชีวิตก็ถูกหลอกมาเยอะแล้ว ญาติก็พูดใส่หูประจำว่าไม่มีใครรักจริงหรอก หลายครั้งก็เสียใจจนเกิดความเจ็บปวด ทำให้มีเซฟโซน ไม่กล้าไปจีบใคร

คนในสังคมมองความรักและคนพิการอย่างไร

ออมเล่าว่า ตอนไปดูหนังหรือกินข้าวพอเห็นคนพิการมีแฟนสวย คนก็มองเยอะ เขาอาจจะอิจฉาที่เรามีแฟนสวย ถ้าเรามั่นใจจะใช้ชีวิตเราก็ทำตัวปกติ แม้สังคมอาจจะมองว่าไม่เหมาะสมก็ตาม

เก่งมองว่า หากไปเดตแล้วสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็ทำให้การใช้ชีวิตของคนพิการดูไม่ปกติ ตราบใดที่ไทยยังไม่สามารถทำให้คนพิการใช้ชีวิตปกติได้ ทุกมิติของคนพิการก็จะถูกมองว่าแปลกอยู่เสมอทั้งการทำงานหรือความรัก จึงอยากส่งเสียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำพื้นที่ให้คนพิการสามาถใช้ชีวิตได้อย่างมนุษย์ปกติคนหนึ่ง ถ้าวันนั้นมีจริงคนพิการก็ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลก ไม่รู้สึกแปลกแยก

เจินเล่าว่า เธอเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัดมาตลอด ที่ผ่านมารู้สึกแปลกแยกและแตกต่าง เธอเคยได้ยินเพื่อนคุยกันว่า หากเจินไปด้วย กูก็ไม่ไป กูอายเขา ไม่ได้อยากมีเพื่อนแบบนี้ อยากไปสวยๆ ทำให้เกิดคำถามว่า คนเราตัดสินกันแค่รูปลักษณ์ภายนอกจริงๆ เหรอ สิ่งนี้เปลี่ยนชุดความคิดของเธอให้ตัดสิ่งที่ไม่ดีต่อใจออกไป

“มีแฟนแรกๆ ไม่กล้าเปิดตัว อาย เพราะสังคมมองว่าคนพิการเป็นคนอีกชนชั้นด้วยความไม่พร้อมของสภาพสังคม คนทั่วไปเห็นว่าคนพิการต้องใช้ชีวิตไม่ปกติ เขาก็ช่างน้ำหนักแล้วว่าจะดูแลเราได้หรือเปล่า หากได้ชีวิตด้วยกันสักพัก เขาถึงจะเห็นว่าคนพิการก็ใช้ชีวิตได้ หาเงินได้ มีเพื่อน เวลาเจอคนดีดีที่ดูแลเราได้เราก็รู้สึกดี แต่ไม่ใช่ต้องมองว่าคนไม่พิการต้องเป็นคนดีมาดูแล ทัศนคติที่บอกว่าคนไม่พิการดูแลคนพิการเป็นคนดีมากควรเปลี่ยนและเข้าใจว่าเราเท่าเทียมกัน  

เก่งมองว่า ปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องความพิการยังมีน้อยมาก เพราะหลังจากพิการเขาก็ไม่รู้จะหาองค์ความรู้จากไหนเพื่อเตรียมตัวว่าพิการแล้วต้องทำยังไง ต้องใช้ชีวิตอย่างไร ถ้ามีองค์ความรู้นี้จะทำให้รู้ว่า คนพิการควรใช้ชีวิตอย่างไรและคนทั่วไปมีความคิดอย่างไรต่อคนพิการ

ออมมองว่า ถ้าวันหนึ่งถ้ามีสวัสดิการผู้ช่วยคนพิการก็จะทำให้คู่ของคนพิการไม่มองว่าคนพิการเป็นภาระ และมีความเข้าใจกันและกันมากขึ้น เช่นเดียวกับเก่งที่มองว่า ถ้ามีรัฐสวัสดการที่ส่งเสริมเรื่องผู้ช่วยได้จริง ตัวเขาก็สามารถจัดการตัวเองได้ ไม่ต้องรักใครสักคนเพื่อให้มาดูแลเราและไม่มาแชร์กันด้วยภาระ

เจินมองว่า ถ้ามีรัฐสวัสการทุกคนในประเทศจะมีความรักที่ดีได้ ได้มีโอกาสหันไปมองมิติอื่นนอกจากเรื่องปากท้อง ถ้าแม้แต่ตัวเองยังดูแลไม่ได้ ก็อาจเกิดความคิดว่าจะไปดูแลคนอื่นได้เหรอ

ให้ความหมายสิทธิเสรีภาพเรื่องความรักอย่างไร  

เจินนึกถึงความเท่าเทียม สังคมต้องมีทัศนคติของการทำให้คนเท่าเทียมกันก่อน ขณะที่เก่งนึกถึง ความรักและเสรีภาพในตัวเอง เขามองความรักเป็นเรื่องปัจเจกที่ปราศจากการคิดตัดสิน

ชมไลฟ์เสวนาที่ https://fb.watch/hSj0ued0Kv/