Skip to main content

3 กันยายน 2565 ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น M ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) BIPAM ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดาและ Thisable.me จัดเสวนาเรื่อง Theatre for All เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ละครสำหรับทุกคน โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ แพทย์หญิงดลฤดี ศรีศุภผล แพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ วิทยุต บุนนาค จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย โสภณ ทับกลอง จากจังหวะของความมืด Blind Rituals อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ชัชชญา สิริวัฒกานนท์ นอนไบนารี่ ไทยแลนด์ และสิรี ริ้วไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

แพทย์หญิงดลฤดี ศรีศุภผล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เล่าว่า ทุกวันนี้ประเทศเราและหลายๆ ประเทศนิยามความพิการตามระดับความสามารถหรือสมรรถนะ ถ้าทำได้ไม่เท่าคนทั่วไปก็จะเรียกว่าคนพิการ คนส่วนใหญ่จะมีความพิการตอนแก่ เพราะสมรรถนะลดลงและไม่มีสมรรถนะในบางอย่าง  แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเรียกคนแก่ว่าคนพิการ  ไม่เรียกปู่ ย่า ตา ยายว่าคนพิการ นอกจากนี้ ยังมีความไม่ถาวรของความพิการ เช่น ตอนที่เป็นโควิด พูดไม่ได้ชั่วขณะ หรือปวดหัวจนไม่สามารถโงหัวขึ้นมาได้ เมื่อสมรรถนะบางอย่างหายไป ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับความพิการ ดังนั้นในการออกแบบสังคมให้คนพิการก็เสมือนเป็นการทำเพื่อตัวเองด้วย 

เราจะเลือกทำอะไรเป็นอย่างแรกเมื่อความพิการเกิดขึ้นกับเรา เช่น เมื่อตื่นเช้าขึ้นมายกแขนไม่ขึ้น ขยับตัวไม่ได้ จะจัดการชีวิตได้อย่างไร คนส่วนใหญ่คงเรียกรถพยาบาล เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายกระหันทัน เพราะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเรายกแขนไม่ได้หรือขยับตัวไม่ได้ก็คงไม่มีใครที่คิดว่าวันจันทร์ฉันจะไปทำงาน คนส่วนใหญ่คิดว่าจะไปพบแพทย์ ดังนั้นเวลาที่เรามีความเจ็บป่วยหรือร่างกายไม่เหมือนเดิม สัญชาตญาณแรกคือไปเข้ารับการรักษา 

ในยุคแรกเมื่อคนมีความพิการก็จะไปพบแพทย์  ถ้าย้อนไป 100-200 ปีที่แล้ว ที่วิทยาการทางการแพทย์รุ่งเรืองในโลกตะวันตก ถ้าแม่คลอดเด็กออกมาแล้วเด็กมีแขนขาไม่ครบ แพทย์จะบอกให้แม่ลืมลูกคนนั้นไปเพราะต้องให้อยู่ในโรงพยาบาลตลอดชีวิต สิ่งนี้สะท้อนว่า วิธีในการจัดการกับความพิการขึ้นอยู่กับว่ามองคนพิการอย่างไร เช่น ถ้ามองว่าความพิการคือความเจ็บป่วย เมื่อมีความพิการก็ต้องไปพบแพทย์ ผู้ที่มารักษามักสอบถามว่าทำไมเขาไม่ปกติเสียที หลายคนเป็นโรคแล้วโรคนั้นสามารถรักษาหาย แต่โรคบางโรคเมื่อรักษาแล้วไม่กลับมาเป็นปกติ เช่น ขาขาดสองข้าง รู้ว่าขาไม่กลับมาแน่นอน  ทุกวันนี้เมื่อมีความพิการ หลายคนค้นหาวิธีการและหนทางเพื่อให้ความพิการหายไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าหาวิธีการและหนทางเพื่อให้ความพิการหายไปไม่ได้ เราจะจัดการกับชีวิตอย่างไรดี หรือเมื่อมีความพิการแล้ว คิดว่าไม่จำเป็นต้องอยู่กับแพทย์ก็ได้ ออกมาอยู่ในสังคมก็ได้ คิดต่อไปว่าจะไปโรงเรียนอย่างไร ไปทำงานอย่างไร หรือไปเล่นกีฬาอย่างไร เราทุกคนมีสิทธิที่จะทำได้ แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มาออกแบบสังคมที่เราอยู่ คนพิการไม่ใช่เพราะอวัยวะหายไป แต่เพราะสมรรถนะของตนไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำรงชีวิต

“กฎหมายประเทศไทยนั้นทันสมัย แต่ในทางปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง กฎหมายเชื่อว่าความพิการไม่ใช่ความบกพร่องที่มาจากการหายไปของอวัยวะ แต่สังคมมีส่วนทำให้สมรรถนะของคนๆ นั้นไม่เท่าคนทั่วไป ถ้าเราคิดว่าอาคารต้องมีทางลาดแล้วไปนับว่าอาคารในกรุงเทพฯ มีทางลาดกี่แห่งก็อาจจะไม่ใช่ เพราะบางอาคารอาจไม่จำเป็นต้องมีทางลาดถ้ามีตัวเลือกอื่น ดังนั้นวิธีการจัดการจึงขึ้นอยู่กับวิธีคิดของคนในสังคม และถ้าเราเชื่อว่าทุกคนเข้าถึงได้ (accessibility) วิธีทางศิลปะและเทคโนโลยีก็จะตามมาเพื่อออกแบบสังคมที่เราอยู่ร่วมกันได้”

คำถามที่ว่า ทำไมคนพิการไม่ได้เข้าไปอยู่ในงานศิลปะ สะท้อนว่าเรามีภาพจำของคนพิการที่ควรทำอะไร และไม่ทำอะไรเยอะมาก คนไม่พิการผลิตซ้ำความคิดเหล่านี้ เช่น คนพิการไม่ควรเที่ยวกลางคืน คนพิการไม่สามารถแต่งงานหรือมีลูกได้ เป็นต้น แม้เรามีการจัดอับดับอาชีพที่คนพิการทำมากที่สุด แต่ถ้าเราไปหาหมอแล้วเจอหมอพิการ เราจะรักษาหรือไม่

 ในประเทศไทยมีหลายอาชีพที่ระบุว่า ถ้าเป็นคนพิการจะเรียนไม่ได้ หมอเป็นอาชีพหนึ่งที่คนพิการเรียนไมได้ ในสหรัฐอเมริกามีหมอนั่งวีลแชร์ หรือหูหนวก มีเทคโนโลยีรองรับการเรียนรู้ของคนพิการ สิ่งเหล่านี้เป็นมิติทางสังคม

แล้วในการทำงานศิลปะ เราสร้างการมีส่วนร่วมของคนพิการอย่างไร งานของเราจะสะท้อนวิถีคนพิการแบบใด เราเชื่อว่าศิลปะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ครั้งหนึ่งทีมคุณอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ เอาละคร ‘มาร็องดู’ ไปแสดงในงานวิชาการทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ศิลปะที่เกิดจากคนพิการเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนในวงการทางการแพทย์ได้ค่อนข้างเยอะ แม้เราอาจจะยังไม่สามารถเอาคนพิการเข้าไปถึงสื่อกระแสหลักได้ แต่ในฐานะคนผลิตงานศิลปะเล็กๆ นั้นสามารถสะท้อนสังคมและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางใดทางหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องAccessibility หรือ Inclusive ความแตกต่างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ศิลปะมีส่วนช่วยสื่อสารออกมาได้มาก

วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตนเองว่า เขาเกิดมาเป็นคนหูหนวกและได้ ฝึกอ่านปากด้วยการอ่านปากครูตอนที่ครูพูด และมีครูเป็นคนสอนเขียนภาษาไทย  เมื่อจบชั้นอนุบาล ย้ายมาเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนเฉพาะทางของคนหูหนวกและได้เริ่มเรียนภาษามือตั้งแต่ตอนนั้น

 ในโรงเรียนเฉพาะทางของคนหูหนวกมีวัฒนธรรมเฉพาะในโรงเรียนที่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป และเห็นได้ว่าในโรงเรียนคนหูหนวกมีการใช้ภาษามือและวัฒนธรรมเข้มข้น ภายในโรงเรียนมีการสื่อสารภาษามือ เช่น มีการเล่านิทาน เห็นได้ว่าชุมชนคนหูหนวกมีพลังและก่อตั้งได้โดยการรวมตัวของคนหูหนวก

คนหูหนวกสามารถทำการละครได้ เช่น ตอนที่มีโอกาสได้เรียนที่สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มทำงานร่วมกับครูหูดีที่เป็นผู้กำกับ เป็นการทำละครเวทีสำหรับเด็กในโรงเรียน โรงเรียน 80 กว่าที่มารับชมละครเวที เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายหูหนวก ที่มีพ่อไม่ใช้ภาษามือและมีปัญหาในครอบครัว ตนเล่นเป็นวัยผู้ใหญ่ของเด็กหูหนวก เรื่องราวเล่าตั้งแต่เด็กหูหนวก จนโตเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นได้ประสบการณ์ที่ดีมาก มีล่ามแปลให้ ผู้กำกับพูดอะไรก็ทำตามที่ผู้กำกับบอก ก่อนที่จะมีการแสดง ก็จะมี Stand reading อ่านแล้วก็แปลเป็นภาษามือกัน 

“คนหูหนวกแสดงหนังได้ ในภาพยนตร์ที่คนหูหนวกได้รางวัลออสการ์ ชื่อหนัง Children of a Lesser God และล่าสุดก็คือ CODA ได้รางวัลออสการ์ เป็นสิ่งที่ยืนยันความสามารถเรื่องการแสดงของคนหูหนวก”

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเรื่องการแสดงในบทคนหูหนวก หลายครั้งที่จะเห็นเอานักแสดงหูดีมาแสดงเป็นคนหูหนวก ทั้งที่ควรใช้คนหูหนวกแสดงมากกว่า แต่ผู้กำกับไม่อยากจะใช้เพราะกลัวหนังจะขายไม่ได้หรือเพราะคนหูหนวกเป็นนักแสดงที่ไม่ดัง แต่ภาพยนตร์ CODA พิสูจน์แล้วว่า เป็นหนังที่ได้รับรางวัล การแสดงจึงควรต้องมองว่าความตั้งใจคืออะไร การทำละครเพื่ออะไร มีจุดประสงค์ว่าเราอยากทำศิลปะแบบใด นำเสนออย่างไร เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าเป็นสิ่งที่คนหูหนวกทำได้จริงๆ 

ในประเทศไทยเคยมีความพยายามในการนำนักหูหนวกแสดงละครเรื่องนางฟ้า แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เพราะดูไม่สมจริง ภาษามือไม่เป็นธรรมชาติ ในส่วนการละคร วิธีการที่ดีที่สุดคือมีผู้กำกับที่เป็นคนหูหนวกทำงานด้วยกัน ในประเทศไทยใช้ล่ามมาทำหลายบทบาท ทั้งการแปล สื่อสารกับนักแสดง การอ่านบทเป็นภาษามือให้คนหูหนวก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการแปลบทหรือภาษามือต้องใช้คนหูหนวกที่มีความเก่งและมีประสบการณ์ทั้ง 2 ภาษา ที่สามารถอ่านภาษาไทยและใช้ภาษามือได้ อย่างในหนังของ Marvel ที่มีนักแสดงผู้หญิงแสดงเป็นคนหูหนวกนั้นมีผู้กำกับที่เป็นคนหูหนวก 3 คน มาดูแลในเรื่องภาษามือให้ถูกต้องตามเวลาในการเปลี่ยนแปลงของภาษามือ ซึ่งต้องใช้ให้ถูกต้อง หรือการตั้งชื่อตัวละครใหม่ก็ต้องใช้คำให้สวย ต้องใช้เวลาศึกษาและดูประวัติประกอบ ทำท่าให้ถูกต้อง เร็วหรือช้า

โสภณ ทับกลอง Dance Artist จังหวะของความมืด Blind Rituals เล่าว่า ตนทำงานศิลปะการเต้นและละครนำเสนอประเด็นที่เชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งแบ่งหมวดการเข้าถึงเป็นสามหมวด ได้แก่ การเข้าถึงพื้นที่ การเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงอาชีพ

ในปี 2022 การเข้าถึงเทคโนโลยีโทรศัพท์ของคนตาบอดทำได้ด้วยโปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) และมีโปรแกรมที่ใช้คำบรรยายภาพมาเกี่ยวข้อง คนตาบอดเข้าถึงการเรียกรถและการเดินทางโดยใช้โปรแกรมในโทรศัพท์ ส่วนในด้านการเดินทางนั้นคนตาบอดมักเดินทางด้วยรถไฟฟ้า  เพราะคนตาบอดมองว่า เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยและไม่เสียค่าโดยสาร ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในสถานีมีการรับส่งตามสถานีต่างๆ ผ่านการใช้วิทยุสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สถานีปลายทาง แต่ปัญหาคือเมื่อลงจากรถไฟฟ้ามาแล้ว คนตาบอดต้องก็ยังเดินทางไม่สะดวก

ในการเข้าถึงการศึกษา เขาศึกษาระดับอนุบาลและประถมศึกษาที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ส่วนระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยนั้นเรียนโรงเรียนเรียนร่วม ตอนออกจากโรงเรียนเฉพาะความพิการไปเรียนในโรงเรียนเรียนร่วมนั้นมีข้อจำกัดเรื่องการเข้ากับเพื่อนในวัยเดียวกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ประกอบกับเพื่อนในโรงเรียนไม่คุ้นกับคนพิการมาก่อน การที่คนตาบอดเข้าไปเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนทั่วไปซึ่งเพื่อนไม่เคยมีเพื่อนพิการมาก่อน ทำให้เด็กตาบอดรู้สึกว่าเรียนต่อยากเพราะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่สอดคล้องกับความพิการ ตลอดจนเรื่องวิธีการเรียนโดยเฉพาะการเรียนในวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ เช่น วิชาศิลปะ วิชาพละศึกษาก็ไม่รู้ว่าจะเรียนอย่างไร ครูก็ไม่ทราบว่าจะสอนคนตาบอดอย่างไร และระบบการศึกษาไม่เคยมีวิธีการให้คนตาบอดว่า ถ้าจะเรียนวิชาอื่นนอกเหนือจากวิชาการ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ แล้วจะเรียนอย่างไร ซึ่งก็มาเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพว่าคนตาบอดเลือกอาชีพได้ค่อนข้างจำกัด   

คนพิการทางการเห็นมีความต้องการทางการเรียนและประกอบอาชีพที่หลากหลายเหมือนกับคนทั่วไป แต่ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ต้องการและจำเป็นต่อการประกอบอาชีพที่อยากทำได้ ซึ่งก็ต้องถามว่าสังคม Inclusive ขนาดไหน ตั้งแต่การเข้าถึงเชิงพื้นที่ ทุกวันนี้เรียนง่ายมากเพราะมีการประชาสัมพันธ์หลักสูตรในออนไลน์มากมาย แต่การที่จะเข้าไปที่พื้นที่นั้นมีข้อจำกัด เช่น เรื่องการเดินทาง และไม่รู้ว่าเมื่อเข้าไปตรงนั้นได้แล้ว จะเรียนอย่างเขาได้ไหม เช่น อยากเรียนเต้นฮิปฮอป ครูสอนไม่ได้ เพราะครูสอนฮิปฮอปไม่รู้วิธีสอนคนตาบอดเต้นฮิปฮอป  ขณะที่คนตาบอดก็ไม่สามารถอธิบายครูได้ว่า มีวิธีสอนอย่างไร กล่าวได้ว่าไม่มี Inclusive Learning  ผมจึงปรับวิธีการเรียนใหม่ มองว่ามีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Sensory ได้บ้าง เช่น การสัมผัส การใช้เสียง ที่สามารถนำเข้ามาใช้ และในประเทศไทย จะเริ่มทำได้อย่างไรโดยไม่ต้องสร้างใหม่ แต่สร้างพื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้เป็น Theatre for All เช่น การสัมผัส การใช้เสียง 

การออกแบบโรงละครเพื่อให้คนตาบอดมาดู อาจจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นคนเสพย์ประสบการณ์ร่วม เราจะออกแบบอย่างไรได้บ้างเช่น ตอนที่ไปหอศิลป์ เขาไม่ให้จับงาน ดังนั้นในการรับรู้ตัวงาน เราไม่สามารถสัมผัสงานได้ แต่เราต้องใช้การอธิบายเท่านั้น ซึ่งรสนิยมและการจินตนาการของคนไม่เหมือนกัน เราจะออกแบบอย่างไรเพื่อดึงประสบการณ์ภาพนั้นมาให้คนตาบอดได้บ้าง อย่างเรื่องกลิ่นเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้มีความรู้สึกอย่างนั้น ดึงเซนส์ความรู้สึกเหล่านั้นออกมาได้หรือไม่ เราจะดึงประสบการณ์งานของเราออกมาให้คนที่เข้ามารู้สึกได้ 

“ไอเดียนี้สามารถทำให้ทุกพื้นที่เป็น theater ได้ ทั้งในเรื่องกลิ่นและการสัมผัส เนื่องจาก inclusive learning สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ผู้เสพย์ประสบการณ์ ที่ปิดตาจะกลายเป็นโรงละครแห่งความมืด  70-80% ของโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเกิดจากการมองเห็น ถ้าเราอยากสร้างอะไรก็ต้องนำองค์ความรู้จากประสบการณ์ออกมาสร้างสรรค์ เพราะคนพิการเจอคนทั่วไปน้อย สิ่งที่เราทำได้คือการพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยและมีส่วนร่วม”

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล เริ่มต้นถามว่า  ความพิการของตนนั้นเป็นความพิการเชิงประจักษ์หรือไม่  ที่ผ่านมาบัตรคนพิการของเขาหมดอายุ เมื่อไปต่ออายุบัตรจึงแจ้งว่า อยากได้ตลอดชีพ แต่ก็ได้รับแจ้งว่า ความพิการที่เป็นนั้นไม่ใช่ความพิการเชิงประจักษ์ นี่เป็นเรื่องของการนิยามและความหมาย ซึ่งสัมพันธ์กับสภาวะที่คนพิการประสบ ตัวเขาความรู้สึกหายไปครึ่งท่อนล่าง เกิดสภาวะตกใจ ช็อค ทำอะไรไม่ถูก ต่อมาเป็นเรื่องของความรู้สึกโทษตัวเอง น้อยใจ ดาวน์ และเริ่มต่อรองหาการรักษาต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แขนงต่าง ๆ หรือไสยศาสตร์ ต่อมาเมื่อปรับตัวเข้ากับความพิการ เมื่อรู้ว่าไม่หายจากความพิการ จึงเกิดการยอมรับความจริงได้แล้วออกมาใช้ชีวิตได้

“สังคมมีการผลิตซ้ำความน่าสงสารเรื่องความพิการทั้งในบทละคร หนัง  บางกรณีก็ทำให้คนพิการดูเป็นคนเก่งหรือพิเศษเกินไป  ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำได้   ความพิการอยู่ในตัวเรา สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และคนพิการยังเป็นคนที่มีความต้องการ มีความรู้สึก สื่อควรผลิตประเด็นนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคม หากบทละครเขียนจากประสบการณ์ของคนเขียนซึ่งไม่มีประสบการณ์ก็ควรไปถามจากคนพิการ”

อรรถพลอยากให้มองว่า คนพิการไม่ใช่ผู้ป่วย ทัศนคติที่มองว่า คนพิการเป็นคนหนึ่งคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจะนำไปสู่การสร้างและประกอบสร้างของศิลปะ หรือ Theater ตัวเขาเองมีบทบาทหนึ่งคือ นักแสดง การละครของผู้กดขี่ เป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้เมื่อ 7-8 ปีก่อน ก่อนหน้านี้เป็นคนพิการคนหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตและมีความฝันว่าอยากแสดง จนเจอคุณฉั่ว-ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย กระบวนกรที่จัดกระบวนการการละคร ซึ่งทำให้ค้นพบตัวเองว่า คนพิการก็มีศักยภาพที่จะเป็นนักแสดงได้ เพียงต้องการเพื่อนที่มีความเชื่อมั่นว่าแสดงได้ 

แต่มีปัญหาหนึ่งคือ กระบวนการสร้างสรรค์ไม่มีศิลปินที่มีความพิการมากนัก อุปสรรคด้านสภาพแวดล้อมสำคัญมาก การไม่เข้าถึงการศึกษาของคนพิการทางร่างกาย พวกเขาออกจากบ้านไม่ได้ ลิฟต์รถไฟฟ้าก็มีฝั่งเดียว  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทัศคติทั้งสิ้นที่ทำให้คนพิการไม่สามารถออกไปสู่พื้นที่สร้างสรรค์ได้ หรือไม่สามารถสร้างสรรค์ประเด็นตนเองได้

อุปสรรคอีกเรื่องที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงสภาพแวดล้อมของโรงละคร หลายครั้งคนพิการได้ที่นั่ง VIP หน้าเวทีที่ต้องแหงนดูตลอดเวลา ก็รู้สึกปวกคอ อยากเลือกที่นั่งได้เอง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องทัศนคติว่าจะออกแบบ ให้คนพิการมีส่วนร่วมและนับรวมคนพิการอย่างไร

“เราต้องการเพื่อนที่มีความเข้าใจว่าเรามีความต้องการอย่างไร เราไม่ต้องการผู้ใจบุญที่เลือกเราเป็นสินค้าบุญกุศล เราต้องการเพื่อนที่จะใช้ชีวิต และมีชีวิตในฐานะประชากรคนหนึ่งในโลกนี้เท่านั้น ถ้าแนวคิดเหล่านี้สามารถมองเราเท่ากันได้ ถึงวันนี้เรามีความแตกต่าง ก็ไม่ต้องรอว่าวันหนึ่งคุณจะมีความแตกต่าง แต่ให้มองว่าเรามีความต้องการก็เท่านั้นเอง”

ส่วนการนำเสนอ ควรนำเสนอประเด็นที่ดูเป็นชีวิตมากขึ้น เล่าว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร ในละครมีคนนั่งวีลแชร์ในระยะสั้นๆ แล้วกลับมาเดินได้ หรือคนตาบอดรักษาตาหายได้ สื่อผลิตซ้ำความพิการ เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในชีวิตของคน คนก็คิดว่าจะมีปาฏิหารย์เกิดขึ้น แต่ปาฏิหาริย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง สื่อไม่เล่าว่าเมื่อเกิดภาวะความพิการในชีวิตคนแล้วจะเกิดอะไร

ชัชชญา สิริวัฒกานนท์ นอนไบนารี่ ไทยแลนด์ เล่าว่าสำหรับออทิสติกนั้นเป็นความพิการและอัตลักษณ์ ออทิสติกเป็นความพิการที่เกี่ยวกับการรับรู้ การปฏิสัมพันธ์ การโต้ตอบ บางคนมีการโต้ตอบช้ากว่าคนอื่น  โต้ตอบกับแสงสีเสียงที่ไวกว่าคนอื่นๆ บางคนความพิการไม่ได้เด่นชัด 

คนออทิสติกไม่ได้ฉลาดเหมือนทนายวู (Extraordinary Attorney Woo) ทุกคน มีความชอบที่หลากหลายตัวเองถูกวินิจฉัยตอน 5 ขวบ พูดได้ตอน 5 ขวบ เขียนหนังสือได้ตอน 10 ขวบ ที่ทำงานตกใจเมื่อรู้ว่าเป็นออทิสติก ซึ่งเป็นดาบสองคม แม้ไม่ได้ถูกกดทับ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะไม่มีใครเชื่อว่าเป็นคนพิการ การทำตัวเป็นคนทั่วไปเกิดจากการกดทับของสังคมที่กดอัตลักษณ์ไว้ กดทับตนเองและเพิ่งยอมรับตัวเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาในการเยียวยาจิตใจ โลกคือสิ่งที่โหดร้ายสำหรับคนออทิสติก เพราะในสังคมและโลกไม่แน่ไม่นอน มีสิ่งเร้าเยอะ คนออทิสติกชอบความแน่นอน คนในสังคมมักเหยียด โดยเฉพาะหากมีอัตลักษณ์ทับซ้อนก็จะเจอเรื่องการเลือกปฏิบัติ เช่น เป็นออทิสติกที่มีความหลากหลายทางเพศ

“เราอยากให้โลกยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ปฏิบัติและพูดคุยด้วยความเข้าใจ ตรงไปตรงมาด้วยความเคารพ  ไม่ตัดสิน ถามความต้องการ คนออทิสติกมีความลำบากในการรับรู้ และแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนไม่อยากให้เสียงดังเกินไปเพราะทำให้เครียด บางคนไม่ชอบคนเยอะเกินไป อาจมีห้องแยกเงียบๆ ให้เขาพักผ่อน การศึกษาควรมีการปรับให้เข้ากับเด็กออทิสติก”

ในละคร ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ที่เอาคนพิการมานำเสนอ อย่างทนายวู คนแสดงไม่ใช่ออทิสติก ดูไม่สมจริง การแสดงเป็นการเหมารวมและตีตรา แทนที่จะสร้างการเรียนรู้ แต่กลับสร้างการกดทับซ้ำ มีคนออทิสติกที่อยากเป็นคนแสดงแต่สังคมไม่ให้โอกาส จะทำอย่างไรให้ละครและคนเขียนบทชวนคนพิการเข้ามามีส่วนร่วม

ในกรณีของคนออทิสติก ขอให้ระวังเรื่องแสงและเสียง แต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน บางคนอ่อนไหวกับเสียงดัง  บางคนอ่อนไหวกับการแสดงอารมณ์บางอย่างของตัวละคร  เช่น อารมณ์โกรธ เมื่อคนออทิสติกดูนักแสดงที่มีอารมณ์โกรธแล้วก็จะส่งผลให้เขาอ่อนไหวไปด้วย และอาจไม่ใช้เสียงมากจนเกินไป หรือถ้าเรื่องใดมีการใช้เสียงมากก็อาจขึ้นคำเตือนไว้ก็ได้