Skip to main content

หลังได้คะแนนเสียงชนะแบบแลนด์สไลด์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการและได้สร้างความหวังใหม่ๆ ต่อ ‘กรุงเทพฯ’ เสมือนว่าจะสร้างมาตรฐานใหม่ของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของการทำงาน ความรวดเร็ว ความเข้าถึงจับต้องได้ และอีกหนึ่งประเด็นที่เหมือนจะเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือประเด็นคนพิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้คนพิการหลายคนในกรุงเทพฯ ตัดสินใจลงคะแนนของพวกเขาในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ชัชชาติได้เปิดตัวรองผู้ว่าราชการฯ ​4 คนและที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ทั้งหมด 9 คน เป็นที่น่าสนใจว่า รายชื่อหนึ่งในที่ปรึกษานั้นเป็นคนพิการ ‘ภาณุมาศ สุขอัมพร หรือนก’ ที่ปรึกษามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และตัวเขาเองนั่งวีลแชร์ 

Thisable.me ชวนคุยกับภาณุมาศในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ รู้จักเขาผ่านสิ่งที่เขาอยากเปลี่ยนเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น และอะไรคือสิ่งที่เขาจะกรุยทางไว้เพื่อทำให้ประเด็นคนพิการกลายเป็นประเด็นของสังคมได้ในที่สุด

งานคนพิการไม่ใช่งานใหม่

ภาณุมาศ: หลายๆ คนจะรู้จักผมในฐานะคนทำสื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งแต่ปี 2540 สมัยนั้นโลกของคนพิการเป็นโลกที่เงียบๆ สังคมไม่ได้รับรู้ในวงกว้าง ก่อนที่จะมีความพิการจากอุบัติเหตุผมอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่ปี 2521 เป็นพระเอกภาพยนตร์ กระทั่งปี 2525 อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เกิดความพิการเนื่องจากกระดูกคอแตกกดทับเส้นประสาท 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมรักษาตัวอยู่หลายปีและไม่ได้ออกสู่สังคมเลย ตอนนั้นรายการแรกที่ไปออกคือรายการ ‘เจาะใจ’ เนื่องจากเพื่อนอยากให้เป็นตัวอย่างของดาราที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วงที่เก็บตัวผมก็ยังซุ่มทำรายการโทรทัศน์ โฆษณาประชาสัมพันธ์ เปิดบริษัทโฆษณาเพื่อผลิตสื่อ แต่ก็เลี้ยงชีพไม่ได้และสังคมตอนนั้นก็ยังไม่เปิดรับคนพิการ ไปไหนมาไหนก็ลำบาก 

จุดเปลี่ยนในเรื่องคนพิการก็คือ ตอนที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพกีฬาเฟสปิกเกมส์ (FESPIC Games) ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร จนน้องคนพิการมาหาที่บ้าน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์เฟสปิกเกมส์ให้เพราะสังคมยังไม่รู้จัก จึงได้รู้ว่าประเทศใดที่เป็นเจ้าภาพเฟสปิกเกมส์ การพัฒนาเรื่องคนพิการจะดีขึ้น ตอนนั้นผมตกใจเลยนะว่านักกีฬา 2,000 กว่าชีวิต จะมาเมืองไทย ปี 2542 สนามบินสุวรรณภูมิก็ยังไม่มี คนพิการนั่งเครื่องบินมา 2,000 กว่าชีวิตแล้วจะทำยังไงต่อ เจอฟุตปาธ รถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้ ก็เลยรับปากที่จะเข้าไปช่วย เริ่มต้นด้วยการแต่งเพลงธีม เกิดรายการโทรทัศน์ผ่านกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อสารสังคมอย่างต่อเนื่องด้วยการให้ข้อมูล โดยยึดหลักว่าต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (Public Information) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วม (Public Education) จนเกิดการมีส่วนร่วม (Public Participation) ซึ่งในสังคมมีน้อยเพราะสื่อแบบนี้หากินยาก ไม่ค่อยมีตัง ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียตัง แต่ในระยะยาวสื่อเหล่านี้จะได้เปรียบ

กระทั่งคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับตำแหน่งที่กระทรวงคมนาคม ตอนนั้นผมก็ไปผลักดันให้คนพิการขึ้นรถไฟ ขึ้นรถเมล์ชานต่ำ และเป็นครั้งแรกที่จับคุณชัชชาตินั่งวีลแชร์เพื่อให้รู้ว่าการใช้วีลแชร์นั้นมีความลำบาก

นั่งวีลแชร์ นั่งรถเมล์ แล้วเกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้นมีการทดสอบรถเมล์ที่เป็นกึ่งชานต่ำ (Semi low - floor bus) กับคุณชัชชาติ ซึ่งต่างกับรถเมล์ชานต่ำตรงที่ ชานต่ำจะต้องเสมอฟุตปาธ ไม่ต้องมีสะพานข้าม บ้านเราตอนนี้ยังใช้แบบกึ่งชานต่ำทั้งหมดคือยังต้องมีสะพาน เหตุผลที่เขาไม่ซื้อชานต่ำก็เพราะกลัวน้ำท่วม 

พอเป็นกึ่งชานต่ำ เวลาจะลงก็ต้องมีคนวางสะพาน ซึ่งเมืองนอกไม่ต้องทำแบบนี้ บ้านเขาพอจอดรถเทียบปุ๊ปก็มีลิฟท์เป็นแผ่นเลื่อนออกมาเสมอกับฟุตปาธ บางประเทศก็เป็นรถไฮดรอลิก ปรับความสูงต่ำได้ แต่พอเป็นรถกึ่งชานต่ำแบบเมืองไทยโดนตำหนิว่าทำให้รถติด บานปลายมาตำหนิคนพิการว่าออกมาทำไม เจตคติและทัศนคติเหล่านี้แหละที่เราต้องต่อสู้ให้คนเข้าใจว่าคนพิการก็ต้องใช้ชีวิต ต้องออกนอกบ้าน ต้องทำงานหาเงิน หากเขาทำงานไม่ได้ก็เป็นภาระครอบครัว การมองจึงไม่ควรมองแค่รถติด แต่ต้องมองปัญหาให้ลึกไปกว่านั้น 

ตอนรู้ว่าคุณชัชชาติเลือกเป็นทีม ก็ตกใจแต่ผมรู้ฝีมืออยู่แล้ว แต่เราก็ยังมองว่าตัวเองอายุเยอะ อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ทำมากกว่า แต่ทุกคนก็บอกจะช่วยกัน ผมเองก็ยืนยันว่าจะเป็นเพียงคนกรุยทาง หลังจากนั้นทุกคนต้องมามีส่วนร่วมในการทำงานด้วยกัน

ความหนักใจที่มาพร้อมกับความ Popular ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผมหนักใจนะ มีแรงกดดันสองทาง แรงกดดันหนึ่งคือทีมของคุณชัชชาติทำงานเร็ว เป็นระบบ แข็งแรง เรามีเวลา 4 ปี ซึ่งประชาชนคาดหวัง ฉะนั้นวันวันนึงมีค่ามาก สอง พอเรามาขับเคลื่อนประเด็นคนพิการก็มีความคาดหวังของพี่น้องคนพิการ คนพิการอยากมีส่วนร่วม อยากช่วยกันพัฒนา บางคนก็ทำเรื่องการศึกษาหรือสิ่งอำนวยความสะดวก เขาก็อยากให้ภารกิจของเขาเห็นผล เพราะฉะนั้นผมก็ถูกเร่งหลายทาง ต้องรีบตั้งคณะทำงานว่า ใครจะทำอะไร เข้ามาช่วยได้ตรงไหน และต้องเข้าใจว่างานนี้จะทำให้ทั้งคนพิการ คนแก่และคนทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ชีวิตก่อนหน้านี้ของผมนอนประมาณตี 2 - 3 แล้วตื่น 9 โมง บางวันก็ทำงาน มีประชุมบ้าง แต่วันหนึ่งผมต้องเปลี่ยนชีวิตมาตื่นตี 3 เพราะคุณชัชชาติจ็อกกิ้งตั้งแต่ตี 4  ผมตื่นมาออกกำลังกาย เข้าห้องน้ำภายใน 1 ชั่วโมง นอนช้าสุดคือ 4 ทุ่ม ชีวิตทีมงานเปลี่ยนไปจริงๆ เพราะคุณชัชชาติให้ความสำคัญกับคนมาก ถือว่าตัวเองสัญญากับประชาชนและรู้ว่าคนคาดหวัง 

เห็นโอกาสอะไรบ้างในเรื่องคนพิการ 

ก่อนอื่นต้องขอบคุณพี่น้องคนพิการที่ให้โอกาสและผู้นำอย่างคุณชัชชาติที่เข้าใจเรื่องนี้ ภายใน 4 ปีนี้ ผมต้องวางรากฐานที่กระตุ้นให้ภาคส่วนอื่นๆ คำนึงถึงหัวอกหัวใจของคนกลุ่มชายขอบอย่างคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนด้อยโอกาส ช่วงนี้ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนลำบากกันหมดจากสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณชัชชาติบอกว่าสำคัญมาก เมื่อมีนโยบายต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคนท้องถิ่น เช่น หากอยากกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเปิดถนนคนเดิน เปิดตลาดนัด ก็ต้องให้โอกาสคนในพื้นเอาสินค้ามาขายก่อน อย่าไปทำให้เขาไม่มีที่กิน ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ (Emphathy) ไม่ใช่เพียงหาเสียง 

การเข้าถึงสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองหลวงยังมีอะไรติดขัดเยอะแยะ ไม่ว่าจะเรื่องแหล่งเงินทุนหรืออาชีพ ปัจจุบันทุกหน่วยงานเปิดรับคนพิการ แต่ไม่กี่คน บางครั้งรับไปคนพิการก็ลาออกได้เงินไม่พอค่าเดินทาง หลักคิดของผมก็คือ มองว่าคนต้องการอะไร คนพิการต้องการอะไร ทุกคนต้องการปัจจัย 4 มีงานทำ มีศักดิ์ศรี ไปไหนมาไหนสะดวกและต้องการตัดสินใจในชีวิตได้ด้วยตัวเอง แล้วเมืองจะให้อะไรเขาได้ ทุกอย่างต้องครอบคลุม หากมีแค่ทางเท้าดีแต่ไม่มีงานจะอยู่ยังไงฉะนั้นการจัดการระบบจึงช่วยได้มาก คนดูแลคนพิการยิ่งหนักเพราะเป็นงานที่ไม่จบไม่สิ้น ชีวิตบางคนหายไปเลยและต้องอุทิศตัวเองเพื่อดูแลคนพิการ ยิ่งหากเรามองว่าในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็ยิ่งต้องออกแบบสังคมว่าควรเป็นอย่างไร 

เราโชคดีอีกอย่างที่มีรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ซึ่งเป็นคนหนุ่มและวิสัยทัศน์ไกล มองเรื่องมิติของคน ได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าๆ ฉะนั้นตอนนี้ก็คงเป็นเรื่องการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทางเท้า ลิฟต์ รถเมล์ คุณชัชชาติเองก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ อย่างตอนไปแถวรามคำแหงเขาก็พูดว่า อย่าลืมลิฟต์ ให้คนแก่ คนพิการ ถามวิศวะกรว่าฟุตปาธกว้างเท่าไหร่ สิ้นสุดตรงไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราทำงานสบายขึ้น นอกจากนี้ยังมี Traffy online ที่ประชาชนสามารถแจ้งจุดไม่ปลอดภัยหรือต้องการให้แก้ไขได้ สิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกและมีตัวชี้วัดความสำเร็จ ประชาชนเองก็สามารถติดตามด้วยตัวเองได้

ความต้องการของพี่น้องคนพิการคือนโยบาย

เนื่องจากปากท้องเป็นเรื่องสำคัญและมีคนพิการเส้นเลือดฝอย ซึ่งหมายถึงคนพิการที่ไม่ได้สังกัดในองค์กรใหญ่ระดับชาติ ไม่ได้ใหญ่โตอยู่เยอะ เราจึงมุ่งให้ความสำคัญส่วนนี้ และแน่นอนฝันของคนพิการอย่างการมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งฟุตปาธ ลิฟต์ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่อุปกรณ์ความพิการอย่างวีลแชร์ดีๆ เบาะลมคุณภาพดี ก็ควรที่ต้องมีให้ครอบคลุมเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น เงินไม่มีก็ต้องทำให้มีเงิน วีลแชร์ไม่มีก็ต้องหาให้มี เดินทางไม่ได้ต้องทำยังไงให้ไปไหนมาไหนได้ บางคนต้องการผู้ช่วยคนพิการก็จำเป็นต้องทำระบบผู้ช่วยที่ใช้ได้จริง 

ตอนนี้ในคือนโยบายทั้งหมด 216 ข้อหากแตกออกมาเป็นเรื่องคนพิการจะได้ 227 ข้อ ฉะนั้นใน 4  ปีทำวันละข้อกินเวลาไปปีนึงแล้ว เรื่องของการดำรงชีวิตอิสระ (Independent living) หรือผู้ช่วยคนพิการ (Personal Assistance- PA) มีความสำคัญมาก แต่ก็มีปัญหามาก ตอนนี้ PA ได้ค่าตอบแทนน้อย เราก็พยายามหาทางกันว่าจะประสานจับมือกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนอย่างไรได้บ้าง 

การมีชีวิตอิสระจะทำให้ความเป็นคนเท่าเทียม แม้ต่างกันที่กายภาพแต่อำนาจในการตัดสินใจจะทำให้คนมีอิสระ ถึงแม้เป็นคนพิการรุนแรงก็ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ผ่านระบบซัพพอร์ต และทำให้ระบบสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นทัศนคติเเละเจตคติใหญ่ในสังคมหายไป

อะไรคือเเนวคิดเเบบสงเคราะห์ที่พูดถึง

ระบบเงินช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า ให้ 500 1,000 2,000 บาท ถามว่าอยู่ได้กี่วัน คนต้องมีชีวิตไปอีกหลายสิบปีจะทำยังไงต่อ ระบบสงเคราะห์ก็เหมือนการทำบุญ ไม่ได้ทำให้คนลุกขึ้นมายืนได้ เคยมีกรณีครอบครัวหนึ่งผัวประสบอุบัติเหตุนอนติดเตียง เมียไม่ได้ทำงานและลูกก็ยัง 10 ขวบ เมียก็เครียดที่ต้องดูเเล เงินทองก็หาไม่ได้ ติดต่อไปหน่วยราชการก็ได้ความช่วยเหลือตามระเบียบซึ่งไม่เพียงพอ ฉะนั้นการจัดการที่ดีคือต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเห็นถึงความจำเป็นของคนด้วย

ที่ผ่านมาเราอยู่กับระบบ และข้าราชการก็คือผู้รักษาระบบ แต่เขาไม่เปลี่ยนเพียงแต่รักษาระบบ ไม่งั้นเดี๋ยวผิดวินัย ผิดนู่นผิดนี่ ทำผิดระเบียบก็ซวย บางคนก็เหนื่อยกับงานเอกสารหรือประชุม ผมจึงอยากให้เราเปลี่ยนวิธีการ ไม่ต้องมีพิธีเยอะ คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องต้อนรับ ผมคิดว่า เราเปลี่ยนระบบสงเคราะห์ด้วยคนรุ่นเก่าไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าการทำบุญเป็นเรื่องดี แต่การสงเคราะห์ การช่วยคนก็ต้องดูว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืน ให้เขาอยู่ได้ คำตอบก็คือระบบของภาครัฐ กฏระเบียบต่างๆ ต้องเปลี่ยน ต้องคลาย 

ผมคิดว่าการทำงานคนพิการต้องเริ่มด้วยข้อมูล (Data) จากข้อมูลระบุว่ามีคนพิการในกรุงเทพฯ 90,000 กว่าคน และอาจมากกว่านั้น ต่อจากนั้นต้องมาดูว่าในฐานะกรุงเทพฯ เราจะจัดสวัสดิการได้อย่างไร เพื่อให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น เพระข้อมูลจะแสดงให้เห็นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องรายได้ หรือความพิการ หากเราทำข้อมูลได้ก็อาจเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไปด้วย

บทบาทของที่ปรึกษาผู้ว่าฯ นั้นมีแค่ไหน

ที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานครไม่เหมือนที่อื่น ผมกลายเป็นข้าราชการการเมือง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และทำงานจริง สมัยก่อนงานคนพิการไม่มีคนพิการเข้ามาร่วมตัดสินใจ เขามองว่าเดี๋ยวจัดการให้ แต่การมีคนพิการซึ่งเป็นเจ้าของปัญหานั้นทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริง อย่างคนนั่งวีลแชร์เหมือนกันแต่ก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนเข้าห้องน้ำเอง อาบน้ำเองได้ เตียงนอนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณจะมาจัดการแทนไม่ได้เพราะคุณไม่รู้ระบบชีวิต หากคนทำงานมีความชำนาญ และความเห็นอกเห็นใจ เข้าไปนั่งแทนหัวใจ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

การทำงานของคุณชัชชาติเน้นว่าประชาชนคือนาย การไลฟ์ไม่ได้ทำเพื่อยอดแต่ทำเพื่อให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร ขณะเดียวกันก็บันทึกปัญหา คุณชัชชาติพูดเสมอว่าทำงานต้องสนุก มีความกระตือรือร้น มีความเป็นไปได้ ลดขั้นตอนจากระบบท่อ เป็นแบบแพลตฟอร์มตะกร้า คนก็โยนปัญหาเข้าไปในตะกร้า  คนทำงานก็หยิบไปทำ 

เรื่องคนพิการก็เป็นแบบนั้น มีอะไรรายงานมาเลย หากรอทีมทำงานสำรวจทุกพื้นที่คนพิการก็คงไม่ต้องออกจากบ้าน ผมเห็นในตัวอย่างของคนที่แจ้งปัญหาเรื่องไฟทางขาด พักเดียวเขตก็แก้ปัญหา สว่างทั้งซอย เขตจึงควรมีอาวุธเป็นงบประมาณที่จะสามารถจัดการตัวเองได้ เอาเงินไปแก้ปัญหาให้ประชาชน ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็น KPI ว่าเขตนี้มี 500 เรื่องแก้ปัญหาไปแล้วเหลือไม่กี่เรื่อง ถ้าเป็นคนทำงานจริงจะสนุก แต่ถ้าคนไม่ทำงานก็จะไม่สนุกเพราะระบบนี้ทำให้เรื่องยุ่งยาก  ฉะนั้นระบบนี้จะจัดการตัวเอง เหมือนที่พี่เองก็ต้องปรับตัวและบอกว่านี่คือโอกาสในการกรุยทาง 

ในกรุงเทพฯ มีข้อพิพาทอยู่เรื่อยๆ อย่างกรณีลิฟต์บีทีเอส ทิศทางจะไปอย่างไร

คิดว่าต้องดีขึ้นเพราะมีคนพิการมานั่งอยู่ข้างในเเล้ว การฟ้องร้องในอดีตก็คิดบทเรียน คุณเห็นตอนเขาแบกผมขึ้นเวทีไหม พอไม่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกก็ต้องแบก ถ้าไป 5 เวทีก็ต้องแบก 5 เวที หากไม่อยากแบกก็ต้องรู้จักทำทางลาด การที่คนพิการฟ้องก็เพื่อแสดงปัญหา หากคุณเข้าใจ มองว่าถ้าวันหนึ่งตัวเองไม่ชิงตายเสียก่อน ก็ต้องพิการแน่  สิ่งที่ทำวันนี้ก็คือการทำเพื่ออนาคต คนพิการไปได้ คนแก่ผู้สูงอายุก็สะดวกสบาย ก็จะเห็นความจำเป็นต้องทำ บริษัทต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องนำเจ้าของปัญหาเข้ามารับรู้ตั้งแต่ต้น ผมจึงมองว่า การฟ้องเป็นเรื่องธรรมดา มีปัญหาก็ฟ้องไป ยิ่งถ้าผู้บริหารไม่ใส่ใจ กับข้อเสนอหรือปัญหาเหล่านั้น 

ฝากบอกอะไรกับพี่น้องคนพิการในกรุงเทพฯ

อยากให้กันช่วยสะท้อนปัญหาออกมา โดยเฉพาะคนพิการรากหญ้า อยากได้ยินเสียงของคนพิการตัวเล็กตัวน้อย อย่าปล่อยให้การทำงานเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ผมคนเดียวทำไม่ได้หรอก ผมกับคุณชัชชาติ 2 คนก็ทำไม่ได้หรอก เรื่องของเราเราต้องช่วยกันถึงจะประสบความสำเร็จ

ผมฝันอยากเห็นคนพิการไปขับเคลื่อนในระดับเขต ไม่ใช่เอาคนพิการไปถ่ายเอกสาร ไปรับโทรศัพท์ ไปต้อนรับ เราอยากเห็นคนพิการทุกเขตช่วยกันขับเคลื่อนสภาพแวดล้อม ขับเคลื่อนวิถีชีวิต มีคนพิการเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์ และต้องนึกถึงคนแก่ สตรีมีครรภ์ เด็กด้วย

การทำงานในครั้งนี้ ผมของยกคำของอาจารย์สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ นักเคลื่อนไหวประเด็นคนพิการรุ่นแรกๆ ที่ว่า “เห็นคุณค่า ดำรงชีวิตอิสระ สร้างสรรค์สังคม” มาเป็นหัวใจในการทำงาน

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ