Skip to main content

“ถ้ามีเวทีประกวดสำหรับคนออทิสติกในประเทศไทย เฟิร์นก็คงไปประกวดเวทีนั้น แต่ว่าตอนนี้สังคมไทยก็ไม่ได้มองจุดนี้มากพอ เฟิร์นก็เลยลงประกวดในเวทีทั่วไป เพื่อให้ทุกคนรู้ว่ายังมีบุคคลเหล่านี้อยู่ในสังคม และเขายังต้องการความช่วยเหลือนะ”

“เวทีประกวดนางงาม” เวทีที่ใครหลายคนคาดหวังที่จะได้เห็นการประชันความสวยงาม ชุดราตรีสุดหรู หรือการเดินแบบในชุดว่ายน้ำเพื่ออวดเรือนร่าง แต่ที่ผ่านมาเวทีเหล่านี้กลับไม่ค่อยมีคนพิการเข้าร่วมประกวดเลย แต่ในปัจจุบันบริบทของเวทีนางงามนั้นเป็นมากกว่าเวทีประชันความงาม แต่กลายเป็นพื้นที่ที่สะท้อนปัญหาสังคม การประท้วง ไปจนถึงการนำประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมขึ้นมาพูด ที่สำคัญคือยังเปิดโอกาสให้กับความงามนอกกรอบมุมมองความงามแบบเดิมได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

เช่นเดียวกับเฟิร์น - พรนภาพรรณ สังวาลย์ทอง หญิงสาวผู้เป็นบุคคลออทิสซึม อายุ 21 ปี นักศึกษาปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ต้องการคว้าโอกาสผ่านการเข้าร่วมประกวดเวทีนางสาวไทยประจำปี 2565 ในฐานะคนพิการคนแรกในเวทีนางงามของประเทศไทย ถึงแม้เธอจะไม่สามารถเข้ารอบ 24 คนสุดท้ายได้ แต่เธอก็คาดหวังว่าการประกวดครั้งนี้จะสามารถสร้างพื้นที่ให้กับคนคนพิการ และทำให้สังคมเห็นว่าคนพิการก็มีตัวตนอยู่ในสังคม ทั้งยังมีศักยภาพมากพอที่จะทำตามความฝันและพัฒนาสังคมได้ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่พิการ

จุดเริ่มต้นความฝันและแรงบันดาลใจการประกวดนางงาม

เฟิร์น: ช่วงปิดเทอมปีที่แล้วนั้นนานมาก แถมเราเองก็ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก จึงเปิดดูอินสตาแกรม กระทั่งเจอสตอรี่ของพี่พรฟ้า (ปุณิกา กุลสุนทรรัตน์) แชร์โพสต์โปรโมทเวทีประกวดนางงามออนไลน์ เรามองว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำสักทีเพราะกลัวแนวคิดเรื่องบิวตี้สแตนดาร์ด จึงตัดสินใจเข้าประกวดเพื่อทำให้ฝันตัวเองเป็นจริง

ตอนแรกเฟิร์นคิดว่า ประกวดก็คงสนุกๆ แต่ยิ่งเราทำเราก็ยิ่งชอบ อยากจะเพิ่มชาเลนจ์ให้ตัวเอง เอาตัวเองไปอยู่ในเวทีที่สร้างผลกระทบได้เพราะการประกวดนางงามออนไลน์ที่ผ่านมานั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องคนพิการ

หลังคิดได้แบบนั้น จึงวางแผนว่าจะลงสมัครมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ แต่ด้วยระยะเวลาแล้วเวทีนางสาวไทยจัดก่อนและจัดโดยผู้ถือลิขสิทธิ์เดียวกัน จึงตัดสินใจลงสมัครนางสาวไทย เรามองว่าผู้จัดอย่าง TPN นั้นเปิดกว้าง หลังจากที่แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส นั้นสื่อสารเรื่องคอนเซปต์ของบิวตี้สแตนดาร์ด จนเกิดแคมเปญ #RealSizeBeauty  และได้เป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 เราก็มองว่าตัวเองน่าจะประกวดได้

การสนับสนุนจากครอบครัวและคนรอบข้าง

ตอนประกวดออนไลน์ ที่บ้านก็มองว่าไม่ต้องไปไหน ไม่ได้เสียเงินอะไรมาก แต่พอประกวดเวทีนางสาวไทยเขาก็กังวล เราเองก็กลัวว่าที่บ้านจะรู้แล้วไม่ให้ประกวดจึงเก็บเรื่องไว้เงียบ จนเขารู้เองตอนคลิปวันรายงานตัวออกสื่อ

วันนั้นเฟิร์นไม่คิดว่าจะเข้ารอบ แต่พอเพื่อนส่งมาว่าเราเข้ารอบนะ เราซึ่งกำลังเรียนภาษาอังกฤษง่วงๆ ก็ตื่นเลย กลับบ้านก็กรี๊ดลั่นบ้าน ยายนอนอยู่ข้างๆ เราก็พูดกับยายว่า “ยาย เฟิร์นได้ไปต่อ 50 คนแล้ว!” ยายก็ดีใจปนตกใจด้วยนิดหน่อยเพราะไม่คิดว่าเราจะเข้ารอบ คนรอบตัวก็แสดงความก็ดีใจด้วย บอกว่าเก่งมาก สวยมาก ทำดีมากเลย

ความพิการไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำตามความฝัน

เฟิร์นเคยโดนดูถูกความฝันนะ เราเคยฝันอยากเป็นหลายอย่างเลย เช่น อยากเป็นดีไซน์เนอร์ แต่คนอื่นก็บอกว่าใช้เงินเยอะแล้วจะทำไหวเหรอ นอกจากนี้ก็ฝันอยากเรียนต่อต่างประเทศ แต่คนรอบข้างก็กังวลว่า เราจะไปอยู่คนเดียวที่ต่างประเทศได้เหรอ ช่วงที่โดนดูถูกหนักๆ ก็คือตอนที่เราฝันอยากจะประกวดนางงามนี่แหละ ที่หลายคนมองว่า เราคงทำไม่ได้แน่

นอกจากนี้ อุปสรรคที่สำคัญมีอีกอย่าง คือการรับมือกับกระแสสังคม จากเดิมที่ไม่เป็นที่รู้จักเลยกลายเป็นว่า เป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน กระแสสังคมก็มาแรงมากทั้งด้านบวกและด้านลบ บางทีโชคดีเจอด้านบวกเยอะมาก แต่บางครั้งก็โชคร้าย ไถๆ โซเชียลไปเจอด้านลบ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ที่เราทำได้ก็คือการเลื่อนผ่านไปให้ไวที่สุดและพยายามไม่เก็บไปคิดมาก แต่เอาเข้าจริงถึงจะพยายาม สุดท้ายเราก็เก็บไปคิดอยู่ดี จนบางครั้งเอาไปตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราควรหยุดตรงนี้จริงเหรอ  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากที่จะรับมือ

กระแสสังคมตั้งคำถาม “ทำไมคนพิการไม่อยู่ส่วนคนพิการ?”

เราไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เลยเพราะสังคมเราเข้าสู่การเป็น Inclusive Society หรือสังคมที่นับรวมทุกคนมากขึ้น คนทุกคน ทุกวัย ทุกประเภทความพิการสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เราอยู่ในสังคมแบบ Inclusive Society มาตั้งแต่เด็ก จึงมองว่าคนพิการสามารถอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้  รวมทั้งสามารถอยู่บนเวทีประกวดนางงามได้ คนพิการมีความสามารถไม่ด้อยกว่าคนอื่น แค่อาจมีบางอย่างที่แตกต่างออกไปและเราไม่ได้มาประกวดเพื่อให้ได้คะแนนความสงสาร 

“ถ้ามีเวทีประกวดสำหรับคนออทิสติกในประเทศไทย เฟิร์นก็คงไปประกวดเวทีนั้น แต่ว่าตอนนี้สังคมไทยก็ไม่ได้มองจุดนี้มากพอ เฟิร์นก็เลยลงประกวดในเวทีทั่วไป เพื่อให้ทุกคนรู้ว่ายังมีบุคคลเหล่านี้อยู่ในสังคม และเขายังต้องการความช่วยเหลือนะ”

มุมมองสังคมไทยที่มีต่อบุคคลออทิสติก

เราเจอการเลือกปฏิบัติต่อคนออทิสติกมาหลายรูปแบบมาก ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการบูลลี่ในสถานศึกษา  เหตุการณ์นั้นทำให้เราเป็นซึมเศร้ามาหกปีแล้ว แม้ตอนนี้จะยังรักษาอยู่และยังไม่หาย แต่เราก็พยายามเปลี่ยนให้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

หลายคนมักบอกว่า ถ้าเราไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นคนออทิสติกเพราะออทิสติกเป็น Hidden Disability หรือความพิการที่ไม่เห็นประจักษ์เหมือนกับความพิการประเภทอื่น  ถ้าคนไม่สังเกตก็อาจไม่เห็น คนออทิสติกไม่จำเป็นต้องพูดไม่รู้เรื่อง ทำอะไรไม่เป็น แต่อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม เราจึงอยากสร้างความเข้าใจว่า ออทิสติกมีหลายระดับ ไม่ควรเอาความคิดของตัวเองตัดสินว่าออทิสติกต้องเป็นแบบไหนตามภาพจำที่สื่อสร้าง เพราะออทิสติกมีหลายเฉด (Spectrum ) ที่แตกต่างกันมากกว่าความพิการประเภทอื่น

คนออทิสติกอยากให้คนอื่นปฏิบัติด้วยเหมือนกับที่ปฏิบัติกับคนอื่นๆ ไม่ต้องดีกว่า เช่น เวลาเราบอกว่าพิการ คนก็ทำเหมือนเราทำอะไรไม่เป็น เราหวังให้คนอื่นมองคนพิการเป็นคนเท่ากัน ซึ่งสร้างภาพจำที่ดีกว่าการมองว่าน่าสงสารหรือทำอะไม่ได้

ความกดดันในฐานะ “คนพิการ” คนแรกในไทยที่ประกวดนางงาม

ตอนแรกเราไม่กดดัน แต่พอเข้ารอบ 50 คนแล้วความกดดันก็เริ่มมากขึ้น ทั้งจากไม่รู้จะทำยังไงให้คนในสังคมเข้าใจความเป็นเรา และรู้ว่าเราไม่สามารถจะทำตามใจทุกคนได้ ตอนนั้นเรายอมงดทุกอย่างที่เราอยากกินและกินแต่ไข่ต้มเพื่อให้คนอื่นพอใจว่าเราลดน้ำหนักแล้ว แต่ว่าสุดท้ายพวกเขาก็ไม่เห็น เราไม่ได้อะไรนอกจากความทรมาน หลังจากที่ตกรอบ เฟิร์นก็กลับบ้านและกินทุกอย่างที่ต้องการ (หัวเราะ)

หลายคนมองว่า เราไม่เหมาะสมที่จะเป็นนางงามเพราะมีคนที่สวยพร้อม เพอร์เฟคกว่าเราแต่ตกรอบ เหมือนเราไปแย่งที่เขา เราเองก็เคยรู้สึกว่า “เรามาทำอะไรตรงนี้?” แต่ในรอบ 24 คนสุดท้ายเราได้รับคำชมว่าตอบคำถามได้ดีมาก ดีกว่าหลายคนที่เข้ารอบ เราก็รู้สึกดีใจที่เขาเห็นในศักยภาพและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูด 

แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าแต่ละเวทีมีมาตรฐานของนางงามที่ค้นหา ไม่ใช่เพียงบริษัทผู้จัดการประกวด แต่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถือเป็นต้นฉบับ และมาตรฐานของเรายังไม่ตรงสเปกที่กองประกวดต้องการ

บุคคลออทิสติกถูกกีดกันจากสังคม?

กรอบความคิดเดิมๆ ของคนไม่พิการนั่นแหละที่เป็นอุปสรรค เขาคิดว่าคนพิการควรจะมีพื้นที่ของคนพิการด้วยกันเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วคนพิการก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในสังคมร่วมกับคนอื่น แต่กลับถูกปฏิบัติแบบแตกต่าง ยิ่งหากเกิดการบูลลี่ก็ยิ่งทำให้บุคคลออทิสติกเลือกที่จะปิดบังตัวเอง ไม่กล้าที่จะแสดงความภูมิใจว่าตัวเองเป็นคนออทิสติก คนในสังคมก็ไม่รู้ว่าเป็นบุคคลออทิสติก เมื่อมีปัญหาก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้บนข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เรากำลังเผชิญ 

อาจเพราะกรอบทัศนคติ (Mindset) ของคนไม่พิการไม่ได้มองว่าคนพิการสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่คิดว่าเราทำอะไรไม่ได้บ้าง เหมือนจ้องจะมองแต่ด้านที่ไม่ดี คนไม่พิการจึงมักไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนพิการมีส่วนร่วมในสังคม     คนพิการจึงมีโอกาสมีที่ยืนในสังคมเหมือนคนอื่นได้น้อยมาก

เราคิดว่า ควรมีพื้นที่ให้เรียนรู้ระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ จะช่วยให้ทั้งสองกลุ่มได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนพิการได้รู้ว่าคนไม่พิการเขาใช้ชีวิตกันยังไง ส่วนคนไม่พิการก็ได้เรียนรู้ว่าคนพิการประเภทต่างๆ เป็นอย่างไร การได้รู้จักกันทำให้ได้เรียนรู้วิธีช่วยเหลือ วิธีปฏิบัติตัว รวมถึงการเรียนรู้ที่จะให้เกียรติกันด้วย เราคิดว่าไม่ใช่แค่ภาครัฐที่จะมีส่วนในการเปลี่ยนสังคม แต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติเกี่ยวกับบุคคลออทิสติก

ถึงแม้ไม่เข้ารอบ 24 คนสุดท้าย แต่ก็ได้รับรางวัล “นางงามแห่งแรงบันดาลใจ”

เราตกใจแล้วก็เซอร์ไพรส์มากๆ รู้สึกว่าตัวเองสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้สำเร็จแล้ว หลังจากได้รางวัลหลายคนก็อาจจะบอกว่า นี่มันรางวัลปลอบใจ หรือการได้รางวัลนั้นไม่แฟร์เลย เหมือนใช้เราเป็นกระแสซักพักแล้วก็ปัดตุ๊บ แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นนะ เพราะรางวัลนี้แม่ปุ้ย (ปิยาภรณ์ แสนโกศิก - กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็น โกลบอล จำกัด และ บริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด) ให้จากใจจริงๆ ที่เขาเห็นความพยายาม เห็นความเป็นนักสู้ของเรา และมองว่าสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการตอบแทน

ตอนไม่เข้ารอบ 24 คนสุดท้ายเราไม่ได้เสียใจที่ไม่เข้า แต่เสียใจที่ทำให้แฟนคลับผิดหวัง หากเข้ารอบแฟนคลับก็คงดีใจและเราเองคงได้สื่อสารประเด็นต่อ ตอนนี้พูดไปก็น้ำตาคลอแล้วนะ (หัวเราะ)

เราหวังว่า การได้รับรางวัลนางงามแห่งแรงบันดาลใจจะทำให้มุมมองที่มีต่อคนพิการเปลี่ยนไป เขาอาจเห็นว่า บุคคลออทิสติกช่วยเหลือตัวเองได้ หลายคนสามารถทำอะไรได้เหมือนคนทั่วไป จึงอยากให้สังคมเปิดกว้างทางความคิดกับบุคคลออทิสติกและส่งเสริม สนับสนุนให้คนออทิสติกกล้าทำอะไรตามฝันตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่อยากสื่อสารหากได้เป็น “นางสาวไทย”

ประเด็นเรื่องการศึกษาต่อของคนพิการในระดับปริญญาตรี เพราะก่อนหน้านี้จะเห็นว่านานๆ ทีจะเจอคนพิการที่จบปริญญาตรีแล้วมีงานทำซักที ทำไมถึงน้อยอย่างนั้น เราอยากสนับสนุนให้คนพิการได้เรียน เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยมีซัพพอร์ตให้มากขึ้น อยู่ที่ใจว่าคุณอยากมาเรียนมั้ย หลายมหาวิทยาลัยเปิดโควต้าคนพิการ อย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่เราเรียนก็มีเช่นกัน ถ้าเกิดเข้ามาแล้วมหาวิทยาลัยก็พร้อมดูแลเต็มที่

มีอะไรฝากถึงเพื่อนๆ คนพิการ

สำหรับคนพิการทุกประเภท ถ้ารู้ว่าตัวเองมีความฝันอะไร เราสามารถทำได้เลย  การรอให้เวลาผ่านไปแล้วกลับมาเสียใจทีหลังมันน่าผิดหวังกว่าลงมือทำแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ หากพยายามที่สุดแล้วแต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ อย่างน้อยก็รู้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว และยังรู้ว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหน เก็บเอาสิ่งเหล่านั้นไปพัฒนาต่อไปดีกว่าปล่อยผ่านเลยไปจนไม่ได้ทำ

สำหรับคนไม่พิการ เราอยากบอกว่า ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำตามความฝัน รวมทั้งการเรียนต่อหรือการทำงาน อยากให้พวกเขาเปิดใจรับฟัง นำพาคนพิการเข้าสู่สังคม ช่วยอะไรได้ก็ช่วยและเปิดโอกาสให้คนพิการได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง