Skip to main content

“การมุ่งเน้นที่ความแตกต่างและมองข้ามสิ่งที่รวมเราให้เป็นหนึ่ง ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกและกีดกัน สิ่งเหล่านี้บั่นทอนเป้าหมายและความสำเร็จที่เราสามารถมีร่วมกันได้ แท้จริงแล้ว ความแตกต่างยิ่งทำให้เราแข็งแกร่ง”

คำกล่าวข้างต้นเป็นของแอนดรูว์ พาร์สัน ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ในพิธีเปิดพาราลิมปิกเกมส์เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทัพนักกีฬาพาราลิมปิก และผู้คนที่รับชมพิธีเปิดจากทั่วมุมโลกแล้ว ยังสะท้อนถึงแนวคิดของคนในสังคมต่อคนพิการได้เป็นอย่างดี ที่มักจะนำข้อแตกต่างทางกายภาพ รวมถึงแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างเช่นความเชื่อเรื่อง “เวรกรรม” มาลดทอนศักยภาพของคนพิการ และผลักให้กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมในที่สุด 

ในความเป็นจริงแล้วมีคนพิการอีกหลายคนที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติการเหมารวมคนพิการ โดยตัดสินจากข้อบกพร่องทางร่างกายเพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้ไม่ต่างจากคนทั่วไปในสังคม และต่อสู้เพื่อสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ชวนทำความรู้จักกับ 5 ฮีโร่คนพิการไทยผู้เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนเอาชนะอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว “ความแตกต่าง” ยิ่งทำให้ผู้คนแข็งแกร่ง

กันยา เซสเซอร์  (Kanya Sesser)

"กันยา เซสเซอร์" (Kanya Sesser) สาวไทยวัย 24 ปี มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด ในวัยเด็กเธอใช้ชีวิตอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าในประเทศไทย แต่แล้วโชคชะตาก็ได้นำพาให้เธอไปมีชีวิตใหม่ เมื่ออายุ 5 ขวบ มีชาวต่างชาติมาขอรับอุปการะและพา "กันยา" ย้ายไปมีชีวิตใหม่กับครอบครัวที่อเมริกา

"กันยา" ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่มองว่าความพิการเป็นอุปสรรค เธอชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีมและฝึกฝนอย่างจริงจัง จนอายุ 15 ปีก็สามารถเป็นนักกีฬาที่มีรูปร่างสุดสตรองและได้รับการติดต่อให้ไปถ่ายแบบกับแบรนด์ชื่อดังต่างๆ มากมาย ซึ่งสร้างรายได้ดีไม่แพ้นางแบบคนอื่นๆ 

ครั้งหนึ่งกันยาเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยว่า

"กลุ่มนักกีฬาคนพิการ แม้พวกเขาจะเกิดมาแตกต่างกัน แต่จริงๆ เรานั้นเราก็มีอะไรที่เหมือนกัน คุณไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงรู้สึกดี เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนเหล่านั้น พวกเขาเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทีม เหมือนพี่น้อง เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน"

แทมมี ดักเวิร์ธ  (Tammy Duckworth)

ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เกิดเมื่อปี 1968 ที่กรุงเทพมหานคร พ่อของเธอเป็นทหารชาวอเมริกัน และแม่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ครอบครัวของเธอต้องโยกย้ายไปหลายประเทศตามหน้าที่การงานของพ่อ ทำให้เธอต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักแต่ก็สื่อสารภาษาไทยได้

แต่เดิมเธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ โดยสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1992 กระทั่งปี 2004 เธอได้เข้าร่วมรบในสงครามอิรัก ขณะนั้นเธอเป็นนักบินผู้ช่วยบนเฮลิคอปเตอร์ ยูเอช-60 แบล็กฮอว์ค และถูกยิงระเบิดเข้าในเครื่องบริเวณที่เธอนั่งทำให้บาดเจ็บที่แขนขวา และสูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง จนต้องนั่งวีลแชร์และใช้ขาเทียมตั้งแต่นั้นมา

ภายหลังเธอหันมาโลดแล่นบนเส้นทางการเมืองสหรัฐฯ โดยได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและสมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจากรัฐอิลลินอยส์ ถือเป็นสตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสภาแห่งรัฐอิลลินอยส์

ในปี 2009 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐ และปี 2012 เธอได้รับชัยชนะการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้เธอเป็นสตรีพิการคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงเชื้อสายไทยคนแรกในประวัติศาสตร์

ชาวไทยหันมาจับจ้องไปที่แทมมี ดักเวิร์ธ อีกครั้งหลังจากที่เธอมีส่วนร่วมกับคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐในการออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย และเรียกร้องให้ผู้นำไทยฟังเสียงของประชาชนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการออกมาพูดในครั้งนั้นส่งผลให้ประชาชนชาวไทยจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มคนบางกลุ่มที่โจมตีถึงรูปร่างและความพิการของเธอ

อย่างไรก็ตาม แทมมี ดักเวิร์ธ ไม่ได้ย่อท้อต่อชะตาชีวิตของเธอโดยมองว่าเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำเนื่องจากความพิการทำให้เธอได้มองเห็นปัญหาหลายอย่างด้วยตนเอง เช่นสวัสดิการที่คนพิการควรจะได้รับ จึงไม่น่าแปลกใจที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาได้ยกให้เธอเป็น "ผู้หญิงแกร่งที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่"

Golf No Hands สตรีมเมอร์ไร้แขน

"กอล์ฟ” ภารดร รุ่งเรือง หนุ่มวัย 18 ปี ผู้ก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพ เดินตามความฝันและทำในสิ่งที่ตนชอบจนสามารถเป็นสตรีมเมอร์เกมที่มีผู้ติดตามถึง 2.2 แสนคน

กอล์ฟเคยเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาที่มีความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล แต่โชคชะตากลับไม่เข้าข้างกอล์ฟเมื่อเขาประสบอุบัติเหตุ จนทำให้ต้องสูญเสีย แขนและขา ในเวลาเดียวกันตั้งแต่อายุ 12 ปี แต่แม้จะเจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องทิ้งความฝันไป กอล์ฟก็ไม่ย่อท้อ และพยายามมองหาสิ่งที่ตัวเองพอจะทำได้เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับทางบ้าน จนได้พบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งในฐานะสตรีมเมอร์ไร้แขน Golf No Hands 

แม้การสูญเสียแขนทั้งสองข้างไปจะเป็นอุปสรรคในการเล่นเกมอยู่บ้าง แต่ความพยายามและการฝึกฝนทำให้เขาสามารถเล่นเกมผ่านการใช้ปากบังคับปากกาและสามารถแข่งขันกับคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี`ความสามารถเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของเขาทีเก่งไม่แพ้สตรีมเมอร์คนไหนๆ  ตลอดเวลาที่กอล์ฟได้โชว์ฝีมือในการเล่น เชื่อเถอะว่าไม่มีใครรู้ว่ากอล์ฟใช้ปากบังคับปากกาในการเล่น หากเขาไม่เปิดกล้องให้ใครเห็นตอนที่เขาสตรีม 

ปัจจุบัน Golf No Hands มีผู้ติดตาม 2.2 แสนคน และยังเป็นสตรีมเมอร์ในโครงการ Facebook Gaming อีกด้วย

ใครที่อยากเข้าไปชมและเข้าไปให้กำลังใจรวมถึงอยากเล่นเกมกับกอล์ฟ ก็สามารถเข้าไปเจอกันได้ทุกวัน ตามลิงก์นี้เลย https://www.facebook.com/golf.no.hand.gaming

พงศกร แปยอ

"กร" พงศกร แปยอ เจ้าของ 3 เหรียญทองกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งจากมหกรรมพาราลิมปิก ประจำปี 2020 และแชมป์โลกจากรายการ "เวิลด์ พารา แอธเลติกส์ แชมเปี้ยนชิพ” เมื่อปี 2019 เขาเด็กหนุ่มจากขอนแก่นเป็นโปลิโอที่ขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ทำให้ต้องนั่งวีลแชร์ตั้งแต่ที่จำความได้ แต่กรไม่เคยคิดเสียใจหรือน้อยใจที่ตนเองมีร่างกายไม่เหมือนคนอื่นเลยแม้แต่น้อย

พงศกร แปยอ เริ่มเล่นกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งตั้งแต่อายุได้ 13 ปี ช่วงเวลานั้นได้มีอาจารย์ สากล ทัพสมบัติ ชักชวนให้ไปแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 30 "นครสุโขทัยเกมส์" เมื่อปี 2009 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาแทบจะไม่รู้จักกีฬาชนิดดังกล่าวเลย

ด้วยพรสวรรค์ของเขาที่ใช้เวลาทำความรู้จักและฝึกซ้อมก่อนแข่งแค่เพียง 1 เดือน กลับสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้าเหรียญทองแดงวีลแชร์เรซซิ่ง ประเภท 100 ม. กับ 400 ม. มาครองเมื่อปี 2009 

จากความตั้งใจมุ่งมั่นของพงศกร ทำให้ประวัติ วะโฮรัมย์ และเรวัฒน์ ต๋านะ สองนักวีลแชร์เรซซิงดีกรีทีมชาติไทยเจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์หลายสมัย ถึงกับไปขอพ่อแม่ของพงศกรเพื่อรับมาดูแลสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเล่นกีฬา ประวัติและเรวัฒน์ได้มอบรถวีลแชร์ที่เคยใช้และสภาพยังดีอยู่ให้พงศกรใช้ เพื่อเข้าแข่งขันรายการต่างๆ หรือเรื่องการทำงาน ซึ่งตอนนี้ได้มีการทาบทามให้เจ้าตัวเข้ามาทำงานให้กับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป

จากเด็กที่เกิดมามีความแตกต่างทางกายภาพ การเล่นกีฬาอย่างจริงจัง ชีวิตของเขาก็กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และในการแข่งขันโตเกียว พาราลิมปิก 2020 ความพยายามของเขาก็ได้แสดงผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันวีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร เข้าเส้นชัยด้วยความเร็วที่ 46.61 วินาที ทำลายสถิติโลกที่เคยทำไว้โดยผู้เข้าแข่งขันจากประเทศแคนาดาที่ 46.82 วินาที อีกทั้งพงศกรยังได้ถูกรับเลือกให้รับหน้าที่ถือธงไตรรงค์ในพิธีเปิดการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ในครั้งนี้ พร้อมกับสุบิน ทิพย์มะณี เจ้าของเหรียญทองบอคเซียอีกด้วย

บุญรอด อารีย์วงศ์

จากการเปิดตัวแคมเปญระดับโลกอย่าง #WeThe15 ที่ถูกปล่อยก่อนการเริ่มต้นกีฬาพาราลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติแบ่งแยกคนพิการและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของประชากรกลุ่มนี้อย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการพาราลิมปิกและภาคีเครือข่าย ในคลิปวิดีโอนั้นก็มีครีเอเตอร์คนไทยอย่าง ‘บุญรอด’ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมท “พาราลิมปิก เกมส์” ด้วย

บุญรอด ต่อสู้กับโรคมะเร็งตับตั้งแต่อายุ 3 เดือน ทำให้ต้องตัดตับทิ้งไปข้างหนึ่ง และทำให้พัฒนาการของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่ควรจะมีต้องหยุดชะงัก จากการพักฟื้นที่ยาวนานถึง 1 ปี จึงทำให้บุญรอดต้องใช้ชีวิตกับอาการกล้ามเนื้อยึด ส่งผลต่อการพูด การเดิน 

ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการใช้ชีวิต แต่ข้อจำกัดทางกายภาพเหล่านั้นไม่ได้จำกัดศักยภาพของบุญรอดแต่อย่างใด เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้มีชื่อเสียงบนยูทูวป์ จากช่อง “Poocao Channel” ที่ผลิตคอนเทนต์สร้างเสียงหัวเราะและความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและมีความหลายหลายทางเพศได้เป็นอย่างดี โดยทุกคนสามารถติดตามบุญรอดได้ที่ Instagram @bunroda

ร่วมติดตามเพื่อสนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของประชากรกลุ่มคนพิการอย่างยั่งยืน รวมไปถึง #ส่งใจเชียร์ฮีโร่พาราลิมปิกไทย ในช่วงการแข่งขันพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ได้ที่ Instagram @thaiparaheroes


 

ขอบคุณภาพประกอบ : 

Instagram kanyasesser
Instagram  bunroda
https://www.paralympic.org/news/ipc-president-andrew-parsons-tokyo-2020-opening-ceremony-speech
https://www.sanook.com/women/53187/
https://www.posttoday.com/world/639917
https://www.satc.or.th/athlete/profile.aspx?alid=11
https://thejoi.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94-poocao-channel-paralympic/