Skip to main content

เสียงสะท้อนผ่านแฮชแท็กต่างๆ ในทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น #dek64deservebetter  #เห็นหัวdek64 #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ ล้วนเป็นช่องทางระบายความในใจของเด็ก 64 ที่ต้องเผชิญการสอบติดกันยาวนานถึง 22 วันรวด ได้แก่การสอบ GAT/PAT, O-NET และ 9 วิชาสามัญ ในระหว่างนั้นมีการสอบวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเพื่อใช้ยื่น TCAS รอบที่ 2 และ 3 นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนบางแห่งจัดสอบปลายภาคอีกด้วย ซึ่งคาดว่าช่วงเดือนมีนาคม - เมษายนที่ผ่านมาเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องสอบราว 30 วิชาเลยทีเดียว 

ระหว่างกำลังท่องโลกทวิตเตอร์ เลื่อนดูแต่ละแฮชแท็กที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ เราไม่พบเสียงสะท้อนปัญหาของเด็กพิการที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้เลย หรือแม้กระทั่งข่าวปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่มีให้เห็น ทั้งที่เด็กพิการหลายคนก็กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้เช่นกัน 

Thisable.me จึงชวนนักเรียนพิการชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักศึกษาระดับชั้นปวช.3 ที่อยู่ในระบบสอบระดับชาติท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 มาพูดคุยเพื่อเป็นเสียงว่าพวกเขานั้นต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง 

 

ตัวเลือกการสอบที่ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้สอบเสมอไป

เฟิร์ส—กีรติ ยิ่งยืน นักเรียนพิการทางสายตาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียลเล่าให้ฟังว่า คณะที่อยากเข้าเรียนต้องสอบ GAT/PAT, O-NET และบางวิชาใน 9 วิชาสามัญเพื่อยื่นคะแนน ตอนสมัครสอบเขาได้ลงทะเบียนเป็นคนพิการทางสายตา ซึ่งจะมีให้เลือกว่าต้องการความช่วยเหลือแบบไหน  เช่น การขอเป็นข้อสอบเบรลล์ การขอเป็นครูช่วยอ่านให้หรือหากเป็นคนที่สายตาเลือนรางก็สามารถขอเป็นเอกสารที่ขยายตัวอักษรใหญ่ได้ ตัวเฟิร์สนั้นขอเป็นข้อสอบเบรลล์ไป

ทุกอย่างเหมือนผ่านไปด้วยดี แต่อย่างไรก็ดี เฟิร์สก็ได้เสนอว่า “การให้เลือกตัวช่วยเพียงแบบเดียวไม่เพียงพอ หากคนที่พิการทางสายตา เรียนการใช้อักษรเบรลล์ตั้งแต่อนุบาลก็อาจจะสอบด้วยข้อสอบเบรลล์ได้  แต่บางคนที่เพิ่งมาตาบอดทีหลังและยังไม่คล่องอักษรเบรลล์ ถ้าเลือกเป็นอักษรเบรลล์ก็จะไม่มีใครช่วยอ่าน ทำให้อ่านค่อนข้างยาก บวกกับผู้จัดสอบนั้นให้เวลาเท่ากับเด็กตาดีทั้งที่การใช้มืออ่านอักษรเบรลล์ใช้เวลานานกว่าใช้ตาอ่าน ยังไงก็สอบไม่ทัน  อย่างไรก็ดีการเลือกให้คนอ่านก็เป็นปัญหากับบางวิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ ที่มีโจทย์บางข้อเป็นรูปภาพ ถ้าเราขอคนอ่านให้อย่างเดียว เราก็จะไม่ได้ภาพนูนที่สัมผัสได้ ปัญหานี้ทำให้ผมตัดสินใจเลือกสอบแบบอักษรเบรลล์ไป แม้ไม่ได้เป็นคนที่คล่องเบรลล์ขนาดนั้น ก็เลยมีปัญหากับการสอบนิดหน่อย”

เช่นเดียวกันกับตี๋—สันติภาพ อยู่รอด นักเรียนพิการทางสายตาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบางละมุง เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าเวลาต้องสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ภาพประกอบนูนเป็นส่วนที่คลำยากพอสมควร เพราะคนตาบอด คลำรูปภาพไม่ค่อยเข้าใจ ความไม่เข้าใจส่งผลต่อคะแนน ตี๋จึงอยากให้เขียนบรรยายรูปภาพว่าเป็นรูปภาพอะไร เพื่อคนตาบอดจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

เรื่องเวลาสอบที่เฟิร์สเล่าว่าเป็นปัญหานั้น เคยมีกรณีการร้องเรียนตั้งแต่ในปี 2553 โดยชลิต คูหาทองและธารทิพย์ มากคุ้ม สองนักเรียนพิการทางสายตาที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกับผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น เพิ่มเวลาสอบ เพราะเด็กพิการทางสายตาต้องคอยฟังครูอ่านคำถามและคำตอบ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าปกติ แต่ผ่านมาแล้ว 11 ปี คำขอร้องนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง และนักเรียนพิการทางสายตายังต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่ 

 

ปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวันสอบระดับชาติ

ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดชัดเจนว่า ผู้ที่จะเข้าสอบระบบการสอบกลาง จะต้องเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เสียก่อน แต่ว่าตารางสอบ O-NET การสอบ GAT/PAT และการสอบ 9 วิชาสามัญ ยังอยู่ในช่วงที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บางคนยังไม่จบการศึกษาเลยเสียด้วยซ้ำ

อุดร—ชัยรัตน์ ไชยเวศ นักเรียนพิการทางสายตาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเขาย้อยวิทยา ก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบปัญหานั้น เขาเล่าว่าวันที่สอบ GAT/PAT ตรงกับวันสอบของโรงเรียนพอดี ก็เลยเลือกที่จะไม่ไปสอบ GAT/PAT เหตุการณ์นี้ทำให้อุดรสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญไป ซึ่งอุดรเสนอแนะว่าอยากให้โรงเรียนจัดสอบปลายภาคให้เสร็จก่อนวันสอบ GAT/PAT เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก 

ถึงแม้การจัดทำปฏิทินสอบ TCAS64 จะประกาศให้ทราบตั้งแต่วันที่ 30 กรกฏาคม 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนวางแผนชีวิตการสอบและการอ่านหนังสือ แต่ท้ายที่สุดก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตนักเรียนชั้นม.6 ต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 28 มีนาคม 2564 เป็นวันลงคะแนนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ซึ่งตรงกับวันสอบ O-NET ที่ประกาศไว้แต่แรก ทำให้ต้องเลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 27 และ 29 มีนาคม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งมีเด็กหลายคนได้รับผลกระทบ 

เช่นเดียวกับ โมเดล—ฑิฆฏัมพร เมนโดซ่า นักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหวระดับชั้น ปวช.3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ เพิ่งรู้ว่าคณะที่อยากเข้าเรียนต้องใช้คะแนน O-NET ยื่น ทำให้เธฮลงสมัครวันท้ายๆ จนไม่สามารถลงสมัครสอบจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ เนื่องจากสนามสอบเต็ม  ทำให้โมเดลจึงตัดสินใจเลือกสนามสอบที่ใกล้บ้านที่สุดคือพิษณุโลก และต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างพิษณุโลกและกลับบ้านมาเพื่อเลือกตั้ง แล้วกลับไปพิษณุโลกอีกครั้งเพื่อสอบ O-NET ในอีกวัน 

 

เรื่องที่ดูไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็กไม่พิการแต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กพิการ 

ตี๋เล่าให้ฟังว่า ไฟล์ข้อสอบเก่าที่แจกอยู่บนอินเทอร์เน็ตมักทำเป็นไฟล์ PDF ทำให้เด็กตาบอดฝึกทำข้อสอบเองไม่ได้ เพราะว่าโปรแกรมเสียงที่ใช้อ่านไม่รองรับไฟล์ PDF จนทำให้ตี๋ต้องดิ้นรนทำข้อสอบด้วยตัวเอง 

“อยากเสนอให้คนที่ทำข้อสอบเอาข้อสอบเก่าๆ มาทำเป็นไฟล์ Microsoft Word แล้วลงไปใน Google เวลาค้นหาจะได้เจอเป็นไฟล์ ​Microsoft Word เวลาฝึกทำก็จะได้ง่ายขึ้น” หากได้ฝึกทำข้อสอบบ่อยๆ ตี๋มองว่าจะช่วยทำให้คนพิการทำข้อสอบเสร็จทันเวลาได้ 

ปัญหาสำคัญที่โมเดลเจอคือ โต๊ะที่ใช้สอบ หากระยะห่างระหว่างโต๊ะกับเก้าอี้สูงเกินไป เธอจะใช้เท้าเขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งตอนไปสอบ O-NET เธอก็เผชิญปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ทางกรรมการคุมสอบแก้ไขปัญหาโดยให้ใช้โต๊ะรับแขก โดยมี โมเดลนั่งบนวีลแชร์เพื่อทำข้อสอบ และอีกปัญหาหนึ่งที่โมเดลนึกออกระหว่างพูดคุยที่ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาเลยสำหรับคนไม่พิการคือ “สติกเกอร์ที่ติดบนกระดาษโจทย์ข้อสอบนั้นค่อนข้างแกะยาก คนพิการที่ใช้นิ้วไม่สะดวกบางคนก็แกะแล้วทำกระดาษขาด ทำให้มีปัญหาในการอ่านโจทย์เพราะต้องคอยจับเอากระดาษมาต่อกัน”

 


 

อ้างอิงข้อมูล
THEMATTE
BBC
PPTVHD36
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ThaiPBS
Thairath
Niets