Skip to main content

ตั้งแต่ปลายปี 2562 เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กลายเป็น ‘วาระแห่งโลก’ ที่ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ถือได้ว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาเฉพาะใดๆ ที่จะสามารถหยุดยั้งได้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวจากการติดเชื้อ การทำงานจากบ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจหรือความขาดแคลนต่างๆ ทั้งภาคประชาชนหรือหน่วยงานรัฐ คุณคงเข้าใจความยากลำบากที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ฉันจึงอยากเล่าอีกหนึ่งประสบการณ์ของนักศึกษาพิการไทยที่กำลังหัวหกก้นขวิดกับการผจญ ‘ภัย’ ของโควิด-19 นี้ไม่ต่างกัน

นักศึกษา (ตาบอด) ไทยในเมืองแขก

ฉันมีโอกาสได้มาศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขานโยบายสาธารณะ ที่ International Institute of Public Policy and Management, University of Malaya ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และเริ่มต้นการใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างเต็มตัวครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 ฉันตาเลือนรางตั้งแต่กำเนิด การมองเห็นน้อยลงเรื่อยๆ เพราะโรคต้อหินที่เป็นอภินันทนาการจากการลืมตาดูโลก ถึงจะมองไม่เห็น แต่ฉันก็เป็นอีกคนที่ฝันไว้ว่า สักวันอยากลองไปใช้ชีวิตในต่างแดนเพื่อเรียนรู้และเปิดโลกกว้าง ออกจากพื้นที่ปลอดภัยเดิมๆ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความอกสั่นขวัญหายให้กับผู้คนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายจริงๆ คุณลองจินตนาการดูว่า ในวันที่คุณหวาดกลัวเจ้าเชื้อโรคร้ายนี้ อย่างน้อยที่สุดคุณยังได้อยู่ในที่ที่คุณคุ้นเคย ในบ้าน ในประเทศที่เกิดและอยู่มาตั้งแต่เด็กจนโต แต่ในสภาวะที่เลือกไม่ได้ นักศึกษาไกลบ้านทุกคนที่ไม่สามารถกลับบ้าน ต่างก็กังวลกับความปลอดภัยในชีวิตไม่ต่างกัน แล้วนักศึกษาตาบอดอย่างฉันนี่ล่ะ จะทำยังไง?

ความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลมาเลเซีย

หลังการประกาศมาตรการควบคุมการสัญจร หรือ Movement Control Order: MCO ของรัฐบาลมาเลเซียครั้งแรกในกลางดึกคืนวันที่ 16 มี.ค. โดยระบุรายละเอียดการปิดประเทศชั่วคราวว่า จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มี.ค. สิ่งที่กระทบการใช้ชีวิตของนักศึกษาตาบอดคือ การห้ามให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเลเซียตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เป็นต้นไป ส่วนคนมาเลเซียที่อยู่ต่างประเทศสามารถกลับเข้ามาเลเซียได้ และต่างชาติที่อยู่ในมาเลเซีย เช่นนักเรียนไทยอย่างฉัน สามารถออกนอกมาเลเซียได้แต่จะกลับเข้ามาอีกไม่ได้จนกว่าจะมีมาตรการใหม่ ร้านรวงต่างๆ ทั้งรายใหญ่ รายย่อยต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการ MCO ในเรื่องระยะเวลาเปิดปิดที่เข้มงวด ขนส่งสาธารณะถูกจัดตารางเวลาใหม่และจำกัดเวลาการเดินรถ ห้ามเดินทางข้ามเมือง รวมทั้งหน่วยงานรัฐ โรงเรียน มหาวิทยาลัยและสำนักงานต่างๆ ล้วนถูกสั่งปิดทั้งหมด

ช่วงก่อนหน้านี้เสียงกระเป๋าเดินทางแบบมีล้อลากดังกระทบหูทุกครั้งที่ฉันเดินออกมานอกห้องพัก ยิ่งช่วงสองสามวันแรกของการประกาศมาตรการ MCO ยิ่งได้ยินบ่อย แต่ช่วงนี้ เสียงบนหอพัก 7th residential college ที่ฉันอยู่ก็เงียบลง และเหลือคนพักอาศัยอยู่เพียงหลักสิบ จากที่เคยรองรับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ได้เกือบพันคน

มาสเตอร์หรือหัวหน้าหอพักตั้งกลุ่มพูดคุยเฉพาะสำหรับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ยังพักอยู่ในหอ เราสามารถติดต่อกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศต่างๆ ถูกทยอยนำมาเผยแพร่ ทุกคนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการกันแข็งขัน สิ่งที่เป็นกฎเหล็กสูงสุดของนอกจากนักศึกษาคือ ทุกคนต้องอยู่แต่ในห้องพักของตัวเอง เว้นระยะห่างระหว่างกันและห้ามนักศึกษาที่พักหอพักในออกนอกเขตมหาวิทยาลัยโดยเด็ดขาด แต่ถึงกฎระเบียบจะเข้มงวด แต่ในทางกายภาพพวกเราแทบไม่ลำบากกันเลยเมื่อมหาวิทยาลัย หอพัก และผู้ให้ทุนการศึกษาของฉันต่างให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

นักศึกษาทุกคนได้รับการสนับสนุนอาหารทั้ง 3 มื้อจากรัฐบาล ไม่ใช่อาหารแห้งหรือแช่แข็ง แต่เป็นอาหารสดใหม่ ปรุงสุกร้อนๆ ส่งให้ถึงหน้าห้องทุกวัน เพื่อสร้างระยะห่างระหว่างกัน เจ้าหน้าที่หอพักไม่ให้นักศึกษาทุกคนมารวมกันเพื่อรับอาหาร แต่ให้ตัวแทนนักศึกษานำอาหารไปส่งให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นเดียวกัน เรื่องการสนับสนุนอาหารเป็นอะไรที่ทำให้ฉันประหลาดใจมาก เพราะรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนแค่วันสองวัน หรือหลักอาทิตย์สองอาทิตย์ แต่มากกว่า 2 เดือนแล้วที่นักศึกษาที่พักอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ทานอาหารสด สะอาด ร้อนๆ อย่างนี้ทุกวัน

พอเห็นสถานการณ์เริ่มแย่ลง ASEAN University Network Disability and Public Policy (AUN-DPPnet) ผู้ให้ทุนการศึกษาและคณะที่ฉันเรียนอยู่ก็เสนอจะช่วยหาตั๋วเครื่องบินกลับประเทศไทยให้ แต่ใจของฉันก็แกว่งมาก เมื่อประเทศไทยประกาศปิดประเทศ ปิดน่านฟ้า ห้ามทุกคนไม่เว้นคนไทยเข้า ไม่แน่ใจว่าคนไทยในต่างแดนรู้สึกยังไง แต่สำหรับฉัน ตอนได้ยินประกาศ รู้สึกใจแกว่ง เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องแก้ปัญหาและจะต้องอยู่ต่างแดนไปจนกว่าจะมีประกาศใหม่ของรัฐบาลไทย ต้องอยู่ ต้องสู้เพราะกลับบ้านเราไม่ได้

เมื่อต้องอยู่ให้ได้ ฉันเริ่มสำรวจและเตรียมการสำหรับตัวเองมากขึ้น หากได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ อะไรที่ตระหนกตกใจ สับสนกันอยู่ก็สามารถคลี่คลายไปได้ มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลอัพเดตเรื่องโควิด-19 ผ่านทางช่องทางโซเชียลเนตเวิร์คตลอด ไม่ว่าจะเป็นหน้าเพจเฟซบุ๊ก หรือกลุ่มย่อยต่างๆ



ภาพของผู้เขียนขณะอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า KL Gateway Mall
ถ่ายโดยอลีนา ปาโหด

ความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ในขณะที่ทุกพื้นที่ในมาเลเซียเงียบลงเรื่อยๆ ผู้คนสัญจรบนถนนน้อยจนนับได้ หน่วยงานราชการต่างยังต้องทำงานกันอย่างแข็งขัน นักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่ทางสถานทูตไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการช่วยเหลือ ทั้งส่งข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงอาหารแห้ง หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์มาให้นักศึกษาทุกคนแล้ว 2 รอบ รวมถึงข้อมูลข่าวสารการระบาดทางหน้าเฟซบุ๊กของสถานทูต ยิ่งช่วงเดือนแรกที่ผู้ติดเชื้อมีอัตราสูง อยู่ในหลักร้อยทุกวัน สถานทูตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแปลมาตรการจากภาษามาเลเป็นไทย และประกาศเรื่องการลงทะเบียนกลับไทยอยู่เสมอ รวมถึงมีสายด่วนให้คนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นักเรียนไทยที่นี่ก็ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี แม้เจอกันไม่ได้ แต่ก็ถามไถ่และส่งต่อความช่วยเหลือดูแลกันอยู่เสมอ ในมหาวิทยาลัย University of Malaya ที่ฉันเรียนอยู่เราก็มีช่องทางสื่อสารกันในหมู่นักเรียนไทย ทั้งให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งข่าว และพูดคุยหยอกล้อพอให้หายเครียด เรียกได้ว่า ใครทำอะไรได้ ก็ช่วยกันสุดความสามารถ 

เรียนออนไลน์ เรียนได้ ถ้าคนพิการเข้าถึง

ในส่วนของการเรียนเราต้องปรับทุกอย่างให้อยู่ในระบบออนไลน์ โปรแกรมสื่อสารแบบมีส่วนร่วมฉันยกนิ้วให้ ZOOM Meeting ที่ไม่ว่าจะในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ก็เป็นโปรแกรมที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ดี ส่วน Microsoft Teams ที่ได้รับความนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ฉันรู้สึกว่าค่อนข้างยากต่อการเข้าถึงสำหรับคนตาบอด ในคลาสออนไลน์ที่ต้องดูถ่ายทอดการสอนของอาจารย์นั้นไม่ค่อยมีปัญหา แต่เข้าไม่ถึงถ้าต้องทำงานบนคอมพิวเตอร์ การเรียนออนไลน์เป็นแผนการปฏิบัติการรูปแบบใหม่ที่ทางคณะกำลังปรึกษาและหาแพลทฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษาทุกคน รวมถึงนักศึกษาพิการด้วย

COVID 19 โรคอุบัติใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

ก่อนมาเรียนที่มาเลเซีย ฉันเตรียมใจไว้หลายอย่าง ทั้งเรื่องความลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับการเรียนในสาขาใหม่ ภาษา วัฒนธรรม อาหารการกิน การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนใหม่ที่ต่างเชื้อชาติ หลากศาสนาที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับฉันและทั่วโลก เกิด New Normal หรือวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การชอปปิ้ง การเดินทาง ทุกอย่างถูกเซทรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ 

ขณะที่ฉันเขียนเรื่องราวอยู่คือกลางเดือนพ.ค.2563 จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในมาเลเซียมีมากกว่า 6,000 คน แต่อัตราผู้ที่หายจากการติดเชื้อก็มีสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการประกาศการลดระดับมาตรการการควบคุมการสัญจรอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Movement Control Oder; CMCO) แต่ยังไม่เปิดประเทศ และประชาชนยังต้องปฏิบัติตามกฎเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี ทางการมาเลเซียได้เปิดด่านพรมแดนทางบก เพื่อให้คนไทยที่ต้องการกลับประเทศ เดินทางเข้าไทยผ่านด่านด้านทางบกด้านจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้ และมีการจัดเที่ยวบินพิเศษจากทางสถานฑูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐบาลไทย โดยเที่ยวบินแรกจะออกเดินทางในวันที่ 26 พ.ค. นี้ 

ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าสองหมื่นคน และผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกที่มีจำนวนเฉียด 5 ล้านคนแล้วนั้น ฉันพบว่า การจัดการที่เป็นระบบ มาตรการที่บังคับใช้ได้จริง และการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสมและเพียงพออยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ผู้คนหยุดตื่นตระหนก และจัดการชีวิตได้ดีขึ้น  

การรู้สึกว่า ไม่ถูกทอดทิ้งในสภาวะเช่นนี้ เป็นกำลังใจในการก้าวต่อและสู้กับปัญหาที่สำคัญมาก ฉันเห็นข่าวคราวจากเพื่อนตาบอด และองค์กรตาบอดหลายแห่งทั้งในไทยและในต่างประเทศ รวมถึงองค์กรคนพิการประเภทอื่นๆ พยายามหาทางช่วยคนของตนอย่างสุดความสามารถ และคนพิการแทบจะทั่วทุกมุมโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ คนพิการ ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ 

หากฉันไม่ได้อยู่ในสถานที่และมีคนที่เข้าใจให้ความช่วยเหลือ ก็จินตนาการไม่ออกเลยว่า ความไม่สะดวกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ ฉันจะผ่านมันไปอย่างไร หากเราจะเปลี่ยนโลกใบนี้ ให้เป็น New Normal ก็ขอให้ระบบความคิดความเชื่อที่เห็นคนพิการเป็นประชากรแถวหลัง ที่มีมานานนั้น ถูกกำจัดไปพร้อมๆ กับเจ้าเชื้อ Covid 19 จะได้ไหม?