Skip to main content

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเปิดรับฟังความเห็นต่อรัฐธรรมนูญปี 60 โดยมีกลุ่มแรกที่เข้าร่วมคือกลุ่มคนพิการ ที่อาคารรัฐสภา 1 ถนนสามเสน ในที่ประชุมมีวิเชียร ชวลิต เป็นประธานและเอกพันธ์ ปิณฑวนิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการประชุม

รูปผู้เข้าร่วมประชุมมุมกว้าง


มณเทียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา

มณเทียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่มีการระบุคำว่าคนพิการลงไปทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ คนพิการจึงต้องการให้รัฐธรรมนูญบัญญัติคำว่าคนพิการไว้ทั้ง 3 สภา แต่สิ่งที่ผิดหวังสำหรับรัฐธรรมนูญปี 60 คือการตัดเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เราเองก็ตามไปเสนอแต่ไม่ได้รับพิจารณาและถูกตัดทั้งหมด

 

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยจึงเตรียมข้อเสนอ 11 ข้อ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ เช่น เรื่องความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ มาตรา 27, สิทธิในการรวมตัว เพิ่มภาคประชาสังคม มาตรา 42 , หน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนมาตรา 53, การศึกษามาตรา 54  ที่ตกประเด็น, สิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมสาธารณะ, การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ, การเข้าถึงตัวบทกฏหมาย กระบวนการในการตราหรือยกร่างกฏหมายคนพิการและการพิจารณาบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ

 

นอกจากนี้มณเทียรยังเสริมอีกว่า รัฐธรรมนูญควรตัดคำว่าเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมออก เพราะไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยเป็นธรรมอยู่แล้ว คำว่าเลือกปฏิบัติก็ไม่เป็นธรรมในตัวเอง อีกเรื่องทีสำคํญคือหากดูที่อาคารหลังนี้ ถึงแม้จะมีการย้ำว่าต้องจัดสร้างแบบยูนิเวอแซลดีไซน์ แต่ตอนนี้กลับห่างไกลจากคำว่ายูนิเวอแซลดีไซน์มาก กฏหมายลูกที่มีก็ไม่สามาถบ้งคับได้จริงและล้าสมัยมาก จึงสำคัญหากมีการยกร่างทั้งฉบับ คนพิการควรต้องมีสิทธิเข้าไปอยู่ในสภาร่าง ไม่ว่าจะเลือกตามกลุ่มประชากรหรือกลุ่มพื้นที่ก็ตาม

 


ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอ 8 ประเด็น ใน 6 มาตรา ประเด็นแรกอยากให้ทบทวนเรื่องคนพิการในฐานะสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่าไม่มีใครที่ทำอะไรเองได้ทุกอย่าง ฉะนั้นการใช้เงื่อนไขว่าการเป็นคนพิการภายใต้เงื่อนไขของความสงสาร หรือการทำดีจึงไม่ควร ควรมองมองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิสำหรับทุกคน, มาตรา 47 เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลที่ถูกระบุว่าเป็นของคนยากไร้ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสวัสดิการแบบถ้วนหน้า 

 

มาตรา 56 การพยายามจัดสาธารนูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึง แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการสร้างบริการถ้วนหน้าอย่างไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะแม้จะมีรถไฟฟ้า ทางด่วน แต่คนเข้าไม่ถึงเพราะไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่ได้ประโยชน์, มาตรา 54 การศึกษาต้องฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงในวรรค 4 เรื่องกองทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้คนยากจนและเรียนเก่งแต่กลับผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ อย่างที่เห็นว่าคนพิการเข้าไม่ถึง ต้องย้อนกลับไปสู่กลไกพิสูจน์ความยากจน 

 

มาตรา 42 เรื่องสิทธิการรวมตัว ที่ระบุว่า ตราบใดที่การรวมตัวนี้ไม่ขัดกับความมั่นคงของประเทศ แต่หากเราดูการพัฒนาสิทธิของคนจะเห็นว่าล้วนไม่ได้เกิดจากความสงสารจากผู้มีอำนาจ แต่เกิดจากความเป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับมาตรา 43 เรื่องเสรีภาพในการแสดงออ

 

ษัษฐรัมย์จึงสรุปว่า เงื่อนไขการจัดสวัสดิการเพดานต่ำ ตั้งต้นจากความน่าสงสาร การทำความดี ซึ่งเห็นได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ความยากจน หากเราทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เราจะสามารถแก้ไขปัญหาของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบได้

ตัวแทนจากกลุ่มนักกฏหมายคนพิการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรรัฐธรรมนูญจึงจะมีสภาพบังคับ ในหมวด 3 เรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพ มาตรา 26 และ 27 เรื่องการไม่เลือกปฏิบัติดัวยเหตุเเห่งเพศและความพิการ รวมทั้งในหมวดที่ 6 เรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ แม้รัฐจะบอกให้ทำยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีการดำเนินการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิทธิคนพิการ จึงควรทำข้อบัญญัติ เช่น ให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสิทธิและหน้าที่คนพิการในเรื่องการศึกษาในกฏหมายลูก

ในหมวด 12 เรื่ององค์กรอิสระ เพราะรัฐที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอาจไม่ได้มีความความรู้เรื่องคนพิการ จึงควรให้องค์กรคนพิการมีอำนาจ เช่น บริหารจัดการกำกับดูแลสภาคนพิการแต่ละประเภท แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสภาคนพิการ ประสานงานเมื่อคนพิการมีปัญหา ศึกษาปัญหาคนพิการในปัจจุบัน กำหนดทิศทาง และที่สำคัญคือหากสมาคมมีปัญหาภายในหรือการบริหารการเงิน อยากให้มีองค์กรบริหารบริหารจัดการสภาคนพิการด้วย


พีรพงษ์ จารุสาร ตัวแทนจากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

พีรพงษ์ จารุสาร ตัวแทนจากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยระบุว่า มาตรา 27 หากมองย้อนกลับไปช่วงปี 40 ความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนดำเนินมาตลอด รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี 40 มีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่น่าเสียดายในปี 60 มีการตัดถ้อยคำหลายอย่างออก เนื่องจากกลัวเยิ่นเย้อ แต่ทั้งนี้ขนาดตัวเองเรียนกฏหมายมาแต่วิธีตีความก็ยังใช้นิติวิธีต่างกัน จึงจำเป็นต้องเขียนไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น แต่เดิมมีการเขียนไว้ในมาตรา 30 ถึงบุคคลที่สุ่มเสี่ยงจะถูกเลือกปฏิบัติ 

สุนทร สุขชา ฝ่ายกฏหมายสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40  มีคำว่า พิการและเทียบเคียงได้ใน 5 มาตรา ในปี 50 มีคำว่าพิการ และเทียบเคียงได้ 7 มาตรา ในปี 60 เข้าใจว่าจะกระชับและสั้นที่สุด ให้ไปตีความเอา จึงมีคำว่าพิการเพียง 4 จุด เราต้องการให้มี 7 จุดเหมือนเดิมในแต่ละประเด็น ทั้งเรื่องสิทธิการศึกษาและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 

สุนทรระบุว่า เรื่องความเท่าเทียมและห้ามเลือกปฏิบัตินั้นยังมีอยู่ ทั้งในการเป็นทหารและตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐยังมีข้อยกเว้นเรื่องร่างกาย ทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจในการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในรายงานวิจัยเรื่องกฏหมายกฏระเบียบที่กีดกันคนพิการเข้าทำงาน ทั้งที่เขามีคุณลักษณะที่สามารถทำงานได้

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากรัฐต้องส่งเสริมแล้ว ควรครอบคลุมไปถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ก็สำคัญ โดยเน้นในพื้นที่สาธารณะเพราะประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ มีเด็ก สตรี คนพิการที่ต้องใช้ร่วมกัน  นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในการครอบครองของรัฐ ทำอย่างไรจะสามารถทำให้มีรูปแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง มีการช่วยเหลือทางกฏหมายเพื่อการเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรม คนพิการหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึง แม้แต่การลงบันทึกประจำวันก็เข้าถึงไม่ได้ 


ศุภวัฒน์ เสมอภาค ตัวแทนจากเครือข่ายสตรีพิการ

ศุภวัฒน์ เสมอภาค ตัวแทนจากเครือข่ายสตรีพิการกล่าวว่า การบังคับใช้ที่ไม่มีความเข้มข้นทำให้เกิดปัญหา และการไม่มีบทลงโทษ ทำให้ตึกหรืออาคารที่สร้างใหม่ ไม่มีการบังคับใช้ เราอาจจะเห็นว่า กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ประเมินปีละครั้ง แต่มาตรฐานในการประเมินอยู่ตรงไหนและคนทำเช็คลิสมีความรู้แค่ไหน

เรื่องการใช้คำในรัฐธรรมนูญไม่เจอปัญหาใหญ่ๆ แต่จะเจอคำพ่วงท้ายว่า “หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง” จึงทำให้อาจเข้าใจว่า การมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว สรุปที่พูดมาทั้งหมดกับอย่างใดอย่างหนึ่งอะไรสำคัญกว่ากัน แสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดมักกำหนดอย่างหลวมๆ จึงทำให้การสร้างถูกสร้างอย่างหลบหลืบ สร้างไว้ด้านหลัง ต้องให้เจ้าหน้าที่มาล้อม ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ 

นอกจากนี้ในด้านการศึกษา ศุภวัฒน์ระบุว่าแม้เรามีโรงเรียนเฉพาะแต่ละความพิการ แต่เรายังขาดหลักสูตรการเรียนเรื่องความแตกต่างหลากหลาย และขาดความเสมอภาค สิ่งที่เขาเจอกับตัวเองตามมาตรา 3 ที่ว่าด้วยคนทุกคนเท่าเทียมกัน ทำไมคนพิการบางคนยังต้องใช้ปากคาบปากกาในการถอนเงิน ทำไมยังต้องคาบปากกา คาบบัตรไปหย่อนลงหีบเลือกตั้ง 


สว่าง ศรีสม ตัวแทนจากภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้

สว่าง ศรีสม ตัวแทนจากภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 60 กลับไปเป็นฐานสงเคราะห์ มาตรา 47 เรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่คนยากไร้ ไม่เป็นจริงแล้วเมื่อประเทศไทยเขยิบเข้าเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ทำอย่างไรจะยกระดับให้มาตรา 47 เป็นรัฐสวัสดิการ ที่พูดถึงเรื่องมาตรการทางสังคม จะเห็นได้ว่า ตัวเลขของการใช้งบประมาณต่อจีดีพีทั่วโลกอยู่ที่11% ไทยอยู่4% เราน่าจะเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ในมาตรา 56 เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมควรมีบทลงโทษด้วยเพราะหากไม่มีจะนำไปสู่การเพิกเฉย อีกทั้งในรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ตัดสิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้หายไป นอกจากเอากลับมาแล้ว ควรเพิ่มว่าโดยไม่มีภาระเพิ่มเติม เช่น เมื่อนั่งรถไฟฟ้าเเต่ไม่มีลิฟต์ เขาบอกให้เรานั่งแท็กซี่ข้ามไป ความเท่าเทียมจึงต้องดูในหลายมิติ เช่น เวลา เงิน สภาพจิต ฯลฯ รวมทั้งในมาตรา 71 ที่มีลักษณะของความสงเคราะห์ มีคำหนึ่งที่ไม่ชอบคือผู้ด้อยโอกาส มันไม่ใช่เรื่องของความด้อยโอกาสแต่เป็นเรื่องของการเข้าไม่ถึงโอกาส การใช้คำจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นเหยื่อ 

อรรพล ศรีชิษณุวรานนท์ จากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณทล เห็นด้วยในการแก้มาตรา 71 ให้เป็นการเสริมพลัง อยากให้รัฐสนับสนุนองค์กรเอกชน เอ็นจีโอต่างๆให้สามารถฟื้นฟูคนพิการ ให้ดำรงชีวิตอิสระอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้นซึ่งจะสอดคล้องกับเรื่องสภาพแวดล้อม กายอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพความพิการ 


วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยระบุว่า พบคำว่าการเข้าถึงกฏหมาย กระบวนการยุติธรรม ประกันสุขภาพ แต่การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่คนพิการต้องการมากที่สุดกลับไม่ถูกพูดถึงเลย รัฐธรรมนูญจึงควรเขียนให้มาก นอกจากนี้ยังไม่พบคำว่าสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อคนพิการมาก ในกลุ่มคนหูหนวก หลายครั้งการใช้ภาษามือทำให้ถูกมองว่าเป็นคนที่วัฒนธรรมถดถอยทั้งที่เป็นภาษาแม่ คนหูดีเกิดมาเรียนภาษาไทย ก็เหมือนกับคนหูหนวกที่เกิดมาควรได้เรียนภาษามือ แต่กลับไม่มีการสนับสนุน อีกทั้งเมื่อลองค้นหาคำว่าภาษามือ กลับไม่พบในรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้คำนึงถึงความสำคัญของภาษามือที่เป็นภาษาแม่ของคนหูหนวกด้วย

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ตัวแทนจากมูลนิธิอัลเฟรลระบุว่า อยากให้ดูหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เคยส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองหายไปในรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งที่ กกต.ควรต้องมีหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ แม้จะมีคำว่าเข้าถึงปรากฎในบางประเด็นแต่ในเรื่องเลือกตั้งกลับไม่มี ในบางประเทศที่ยากจนกว่าเรา เช่น พม่า ก็ยังมีโมบายยูนิต เข็นกล่องเลือกตั้งไปข้างเตียง สิ่งเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิหน้าที่ของพลเมือง

นอกจากนี้ชูเวชยังแลกเปลี่ยนว่า ปัญหาเรื่องกายอุปกรณ์ ที่คนใช้วีลแชร์คุณภาพสูงต้องขอจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งจะให้กับคนที่พิการจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเท่านั้น ทำให้คนที่พิการจากสาเหตุอื่นไม่สามารถเข้าถึงวีลแชร์คุณภาพสูง เข้าถึงแต่วีลแชร์นำ้หนักเยอะ ที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สิทธิในการได้อุปกรณ์เพื่อสามารถใช้ชีวิตอิสระของตัวเองจึงควรอยู่ภายใต้คอนเซปการดำรงชีวิตอิสระหรือ Independent living  และนำไปสู่เรื่องผู้ช่วยคนพิการ ที่จะทำให้คนพิการหลายคนสามารถตัดสินใจเองได้แม้ไม่สามารถขยับแขนขาได้ จึงควรมีบริการผู้ช่วยระบุในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับหลายประเทศ ท้ายที่สุดอยากให้มีการเรียนแบบ Inclusive education คือการเรียนรวม เพราะการมีคนพิการเรียนในห้องทำให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องคนพิการ และส่งเสริมการมีพหุวัฒนธรรมด้วย