Skip to main content

หน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการที่เรียกกันว่า  DSS หรือ Disability Support Services เป็นหน่วยที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุนทางด้านอุปกรณ์และสิทธิต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาพิการ

คงไม่แปลกเท่าไหร่ที่คนทั่วไปจะไม่รู้ว่าคนพิการมีสิทธิอะไรบ้าง รวมถึงสิทธิเรื่องการศึกษา ที่คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาฟรีจนถึงระดับปริญญาตรีเพราะแม้แต่คนพิการเอง บางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธินี้ด้วยซ้ำไป ThisAble.me ชวนคุยกับ ภรัณยู สุริยะกันทา เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถึงบทบาทการทำงานของเขาจากฝ่ายทุนการศึกษาสู่การแยกออกมาเป็นหน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการอย่างเต็มตัว

หน้าของคุณ ภรัณยู สุริยะกันทา กำลังยิ้มเล็กน้อย

จุดเริ่มต้นของการทำงานกับนักศึกษาพิการ

ภรัณยู: ผมสอบติดเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยเลยได้ทำงานนี้ แต่ตอนเป็นนักศึกษาก็เคยมีเพื่อนเป็นคนพิการมาบ้าง การทำงานที่นี่นั้นท้าทายดีเพราะเราไม่ได้ทำงานอย่างเดียวแต่ต้องเพิ่มพูนความรู้ใหม่อยู่เรื่อย ๆ เช่น การเรียนอักษรเบรลล์ ซึ่งเป็นภาษาที่เราไม่เคยเรียนและไม่เคยทำ แต่กลับต้องเรียนรู้ทั้ง 3 ภาษาเลย ไทย จีนและอังกฤษ แต่ละอันก็ต่างกันสิ้นเชิง

 

มุมมองที่มีต่อความพิการเหมือนหรือแตกต่างออกไปอย่างไร

หลังทำงานความคิดเราเปลี่ยนไปเยอะนะ เพราะเราต้องรู้จักว่าการดูแลความพิการแต่ละประเภทต่างกันยังไง เราจะใช้คำพูดยังไง อย่างเด็กที่เป็นออทิสติกเขาจะมีปัญหาด้านการสื่อสารเวลาเราอธิบายอะไรก็ต้องใจเย็น ๆ  หรืออธิบายละเอียดกว่าคนอื่น คนพิการด้านการมองเห็นเราก็จะพยายามพูดคำที่ทำให้เขานึกตามได้ เพิ่มเติมรายละเอียดให้มากที่สุด

 

บทบาทที่เพิ่มขึ้นของ DSS หลังแยกออกมาเป็นหน่วยมีอะไรบ้าง

เมื่อก่อนทุนของนักศึกษาพิการจะอยู่รวมกับฝ่ายทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่พอปี 58 เราได้จัดตั้งหน่วยให้บริการนักศึกษาพิการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมมากขึ้น แต่เนื่องจากในช่วงแรกนั้นบางภาระงานยังไม่ชัดเจน ทางมหาวิทยาลัยจึงให้อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายทุนการศึกษา จนในปี การศึกษา 2562 ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายพัฒนา DSS ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่มีความพิการที่จะเข้ามาศึกษาในอนาคต จึงแยก DSS ออกมาเป็นรูปแบบของฝ่าย ที่อยู่ภายใต้สังกัดส่วนพัฒนานักศึกษา โดยใช้ชื่อใหม่ว่า หน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ  DSS เราทำงานกันเป็นทีม เรามีเครือข่าย DSS ทั่วประเทศ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยยังมีแนวคิดที่จะเผยแพร่อักษรเบรลล์ภาษาจีนให้กับมหาวิทยาลัยอื่นหรือหน่วยงานที่มีความสนใจ เพราะมหาวิทยาลัยของเราถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประทศไทยที่ใช้อักษรเบรลล์ภาษาจีนเป็นสื่อในการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับนักศึกษาพิการทางการมองเห็นอีกด้วย

 

การทำงานที่ต่างจากเดิม

เมื่อก่อนตอนที่เราอยู่กับฝ่ายทุน เราจะต้องทำกิจกรรมอื่นของฝ่ายทุนด้วย และมีคนทำเรื่องบริการนักศึกษาพิการเพียงคนเดียว แต่พอแยกออกมา ก็มีเวลาทำงานด้านคนพิการอย่างเต็มที่ หรือได้ออกไปแนะแนวการศึกษาสำหรับคนพิการที่สนใจเรียนในมหาวิทยาลัย เราได้มีโอกาสเดินทางไปแนะแนวที่กรุงเทพเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ในงาน ‘มหกรรมเด็กพิการเรียนไหนดี 63’ ที่จัดโดย ‘กล่องดินสอ’  พวกเราไปแนะนำข้อมูลสิ่งที่มหาวิทยาลัยสนับสนุน หรืออะไรบ้างที่มหาวิทยาลัยเราดูแลเด็กพิการ และได้บอกเล่าสิ่งที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน  มีทั้งโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวกนักศึกษาพิการเพิ่มขึ้น เช่น โครงการทางลาดสำหรับคนพิการที่โรงอาหาร D1 ซึ่งทำให้คนที่นั่งวีลแชร์มีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น หรือจัดหาอุปกรณ์สำหรับคนพิการทางสายตาเพิ่มขึ้น อย่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการยืมเรียนหรือทำงาน

ทางลาดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ถ่ายจากด้านหลัง

 

ทางลาดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถ่ายจากด้านหน้า ด้านขวามีตู้ตู้ไปรษณีย์

สถานการณ์จำนวนนักศึกษาพิการเป็นอย่างไรบ้าง

มีนักศึกษาพิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะ ตอนนี้มีอยู่ 10 คนจากที่ตอนแรกมี 3-4 คน อาจเพราะภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยให้เลือกค่อนข้างเยอะและมหาวิทยาลัยเราเพิ่งมีศูนย์นักศึกษาพิการอย่างเป็นรูปเป็นร่างไม่กี่ปีนี้ ยังต้องประชาสัมพันธ์อีกเยอะ และออกไปแนะแนว ตอนนี้มีพนักงานในหน่วย 2  คน ถือว่ายังเพียงพอสำหรับจำนวนนักศึกษาพิการในตอนนี้

 

สิทธินักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัย

เด็กหลายคนไม่รู้สิทธิของตัวเอง ทั้งสิทธิทางการศึกษาจากรัฐบาล สิทธิในเรื่องทุนค่าใช้จ่าย ฯลฯ อาจเพราะการประชาสัมพันธ์ในส่วนของภาครัฐไม่ค่อยมี คนรู้เรื่องสิทธิจึงมีอยู่แค่บางกลุ่ม นอกจากนี้ครูแนะแนวในแต่ละโรงเรียนก็ต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วย

 

ความเท่าเทียมกันในมหาวิทยาลัย

หน้าที่ของหน่วยคือการสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของนักศึกษาพิการให้เท่าเทียมกับนักศึกษาทั่วไป รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ หนังสืออักษรเบรลล์ สิทธิต่าง ๆ หากมีปัญหาการเรียนก็เข้ามาปรึกษาได้ ห้เขาได้ใช้ชีวิตของเขาเอง และไม่อยากให้เขารู้สึกว่าถูกประคบประหงมเกินเด็กที่ไม่มีความพิการ