Skip to main content

จากกระแส ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ใส่กางเกงขาสั้นเข้าสภาฯ ก่อให้เกิดคำถามและกระแสสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง ประเด็นการแต่งกายและความพิการถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยน พูดคุย หรือไปถึงการถกเถียง แต่สำหรับจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 50 ของพรรคอนาคตใหม่แล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เขาคุ้นชินอย่างดี หลังจากประสบอุบัติเหตุที่ทำให้เขาเสียขาซ้ายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ชวนคุยกับจุลพันธ์ให้ลึกไปกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะอะไรชายผู้สนใจในเรื่องงานค้าขายและเศรษฐกิจจึงก้าวเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง และเพราะอะไรเขาถึงเลือกที่จะใส่กางเกงขาสั้นเข้าสภาฯ ทั้งที่รู้ว่าอาจนำไปสู่ประเด็นดราม่าและการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

ช่วงชีวิตของจุลพันธ์

จุลพันธ์: ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี-โท ผมชอบท่องเที่ยว ไปแบบลุยๆ อย่างตอนอยู่สหรัฐอเมริกาผมขอเงินตั้งต้นจากพ่อแม่แค่ครั้งเดียวและเริ่มทำงานทั้งๆ ที่ไม่มีกรีนการ์ด จนกระทั่งแต่งงาน งานที่ทำก็มีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง และย้ายรัฐไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ โอไฮโอ เนวาดา แอลเอ แมริแลนด์ จนที่สุดท้ายคือวอชิงตัน ดีซี และทำงานหลากหลายมากทั้งงานโรงแรม คาสิโน สายการบิน ไปรษณีย์จนมาถึงการเปิดร้านอาหารไทยที่อเมริกา ช่วงนั้นชีวิตเริ่มลำบากเพราะติดหนี้เยอะ จึงกลับมาเมืองไทย และเริ่มเข้าทำงานกับรัฐบาลในสมัยนั้น ทำมาเรื่อยๆผ่านทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ จนถึงรัฐบาลทักษิณก็ลาออกเพราะเราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการทำงานบางอย่าง

ผมเชื่อในวิธีคิดของตัวเองและอยากแชร์ความรู้ให้กับคนอื่น การกลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้งจึงเกิดจากความต้องการนี้ เราหลายคนน่าจะเคยเจอความรู้สึกที่ว่า เสียงของประชาชนธรรมดาที่แม้ห่วงใยประโยชน์สาธารณะแต่ก็ไม่มีใครฟัง ปัญหาคนตายเยอะช่วงสงกรานต์ ผมเคยยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐว่าทั้งๆที่คุณมีกฎหมายอยู่ในมือแต่กลับไม่เคยแก้ แถมยังไม่มีใครรับเรื่องอีก พอพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นเราก็เห็นโอกาสที่คนธรรมดาจะทำอะไรได้บ้าง

อาชีพในแบบฉบับของจุลพันธ์

3 ปีที่แล้วผมทำอาชีพที่แปลก ผมเปิดร้านอาหารที่สิงคโปร์ เปิดร้านอาหารที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เปิดร้านอาหารที่เชียงคาน แต่ไม่ได้ขายอาหารเพราะเปิดเพื่อขายร้าน ร้านที่เชียงคานขายได้เป็นเนื้อเป็นหนังโดยการปรับปรุงบ้านเก่า หลังขายได้เงินผมก็ท่องเที่ยว จนมาถึงที่เชียงใหม่กำลังจะทำร้านแต่ขามาขาดเสียก่อน

“ขาเทียม” ชีวิตที่เปลี่ยนไป

แรกๆที่ตัดขา ผมเสียความเชื่อมั่นในตัวเองไปเยอะเหมือนกัน เพียงไม่นานนักก็เอาตัวเองกลับมา พยายามหาจุดเด่นในเรื่องความพิการให้ได้ ผมตระเวนสมัครสมาชิกสมาคมคนพิการต่างๆ ทำงานมาเรื่อยจนได้เป็นรองประธานชมรมช่วยเหลือคนพิการทุกประเภทในเชียงใหม่ และเห็นว่าอาชีพของคนพิการจะใช้การ SWOT Analysis แบบคนไม่พิการไม่ได้ คนพิการจะต้องมี SWOT Analysis ของตัวเอง เช่น หากเคลื่อนไหวลำบาก คนพิการหลายคนก็มักอยู่บ้าน ในคนกลุ่มนี้จริงๆแล้วเขาสามารถค้าขายออนไลน์ได้ รัฐจึงควรสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ออนไลน์ เขาจะได้ทำงานด้วยตัวเองและไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุน คำถามก็คือ ทำไมเขาไม่ส่งเสริม เมื่อดูกองทุนคนพิการที่มีเงินมากมายมหาศาลเราก็เห็นแต่การจัดแค่กิจกรรมอบรมเรื่องระเบียบ เรื่องสิทธิ วนไปวนมาแบบนี้ หรือจัดคอร์สเรียนที่ไม่ได้คำนึงถึงความพิการ ตอนนี้รัฐส่งเสริมให้คนพิการอ่อนแอด้วยซ้ำไป เช่น การฝึกงานเป็นคนงาน ทำไมเราไม่สร้างให้คนพิการเข้มแข็ง มาตรวัดต่ำที่สุดคือคนพิการต้องจ่ายภาษีให้รัฐได้ สามารถเรียกร้องสิทธิที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับตัวเองได้

ทำงานการเมือง สู่การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวัง

หลังจากเข้ามา ทำให้รู้ว่างานการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย มีระเบียบเยอะมาก ผมเข้ามาแบบคนธรรมดา ไม่คุ้นชินกับระเบียบ กฎเกณฑ์ การเสนอปัญหาแต่ละเรื่องจะต้องเอากฎหมายมาจับ ต้องศึกษาเยอะเพราะในหนึ่งเรื่องอาจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายตัว อีกทั้งระเบียบกระทรวง และพระราชบัญญัติต่างๆ

ผมพยายามที่จะจุดประกายความคิดให้คนยอมรับว่าในสังคมนี้มีคนพิการอยู่ ดังเช่นที่ผมขออนุญาตใส่ขาสั้นเข้าไปในสภา แม้ผมจะใส่ขายาวได้แต่ก็ลำบากเมื่อต้องนั่งทั้งวันพร้อมกับขาเทียมเพราะมักเกิดอาการคัน เนื่องจากเหงื่อออก การใส่ขาสั้นจึงทำให้สามารถถอดขาเทียมออกมา เพื่อพักขาและลดแผลกดทับได้บ้าง ก่อนหน้านี้ที่ผมใส่ขายาว ไม่มีใครทักเรื่องขาเทียม ไม่มีใครรู้ว่าผมมีความพิการด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้คนมองว่า คนพิการก็เข้าสภาได้

ทำไมพื้นที่ทางการเมืองจะต้องประกอบไปด้วยคนหลากหมายกลุ่ม

เพราเป็นหน้าที่ที่สังคมต้องผลักดันให้คนทุกกลุ่มมีศักยภาพทัดเทียม โดยเฉพาะคนที่ถูกมองว่าทำอะไรได้ไม่มาก เช่น คนพิการ เพื่อให้เป็นคนทำงานที่มีศักยภาพสูง มีเงินจ่ายภาษีสูง หรือกลุ่มชาติพันธ์ หากคุณไม่เปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถอะไรเลย ออกนอกพื้นที่ก็ไม่ได้ เขาจะมีโอกาสในการแสดงความสามารถได้อย่างไร ฉะนั้นเพื่อสร้างความทัดเทียมในสังคม เราต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโอกาสและส่งเสริมพวกเขามากขึ้น

ความกังวลใจเมื่อเข้าสู่พื้นที่การเมือง

บางอย่างแค่พูดไปก็มีคนต่อต้านแล้ว ไม่ใช่จะทำทุกอย่างที่คิดได้ สถานการณ์ตอนนี้จะขยับอะไรก็ยาก ตั้งกระทู้ถามก็ไม่รู้เมื่อไรจะถึงคิว

เรื่องที่เป็นประเด็นอย่างการใส่ขาสั้นเข้าสภาล่าสุด ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละคนสำหรับผมถ้าใส่ขาเทียมนานก็จะคัน และอาจเกิดแผล ในรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ก็เขียนชัดว่า ต้องส่งเสริมและพยายามกำจัดอุปสรรคต่างๆ ของคนพิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เท่าเทียมคนไม่พิการและไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าผมอยากเด่นอยากดัง แต่ประชุมเป็นเวลานานผมก็จำเป็นต้องถอดบ้าง

คนพิการในสภา= การเรียนรู้ของสังคม

การมีคนพิการในพื้นที่ต่างๆ ทำให้สังคมได้เรียนรู้เรื่องของการเปิดใจกว้าง เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่เพราะหากสังคมไม่มีที่ให้คนพิการยืน พวกเขาก็จะเป็นภาระ ต้องได้รับการดูแลไปตลอด คนพิการในสหรัฐอเมริกามีศักดิ์ศรีสูง ที่จอดรถคนพิการเขาก็ต้องจ่ายเงินทุกปี ไม่ใช่ของฟรี เขาจะไม่ยอมให้คนอื่นมาจอดในที่ที่เป็นสิทธิเขา คนไม่ได้มองว่าคนพิการเป็นภาระในสังคม

สิ่งที่แตกต่างกันมากระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาคือเรื่องโอกาสของทุกคนซึ่งมีเท่าเทียมกัน เราอิจฉาในสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีต่ำมาก สิทธิเสรีภาพส่งเสริมให้คนกล้าคิด กล้าที่จะยกระดับตัวเอง ที่สหรัฐฯ อยู่ดีๆเราจะไปจูงคนพิการไม่ได้นะ อาจถึงขั้นฟ้องร้อง เช่นเดียวกับผมตอนตัดขาแรกๆ ต้องแต่งตัวเก๋าๆ คนจะได้ไม่ต้องเข้ามาช่วย ไม่มามองแล้วสงสารคิดแต่จะบริจาคเงิน

เป้าหมายสูงสุดของการทำงานการเมือง

อยากเห็นสังคมประชาธิปไตย คนพิการ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ มีความทัดเทียม ปัจจุบันนี้แค่ใช้ขาเทียมก็เห็นความไม่เท่าเทียมแล้ว ขาของผมผมต้องซื้อเอง ราคาประมาณ 3 แสนบาท เพราะไม่สามารถทนใส่ขาเทียมเจ็บๆที่รัฐให้กับคนพิการได้  แต่พอไม่มีเงิน คุณก็หมดสิทธิใช้ของดีๆ ต้องทนเจ็บ ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีทางเลือกในชีวิต ทำไมคุณภาพชีวิตที่ดีจึงต้องแพงขนาดนี้

 

ถ่ายภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราษ