Skip to main content

ช่วงที่ผ่านมามีคอร์สอบรมเกี่ยวกับการดูแลจิตใจเกิดขึ้นมากมาย จากความต้องการการเยียวยาคนที่ได้รับความกดดันและหนึ่งในนั้นก็มีกระบวนการที่ชื่อ Rainbow of  Desires หรือการอบรมละครเพื่อการเยียวยา

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย จากคณะละครมาร็องดูเป็นผู้ที่ริเริ่มนำกระบวนการนี้เข้ามาในไทยโดยเชื่อว่า งานละครจะช่วยเยียวยาและทำให้คนเข้าใจตัวเองผ่านการทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ศรชัยเคยทำละครของผู้ถูกกดขี่ผ่านกระบวนการแทรกสดร่วมกับนักแสดงที่มีความพิการ ซึ่งมีความพิการเป็นหนึ่งในประเด็นที่พวกเขานำเสนอและได้รับการตอบรับอย่างดี

คุยกับศรชัย ฉัตรวิริยะชัย, วิปัศยา อยู่พูลและอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ เกี่ยวกับละครเพื่อการเยียวยาหรือ Rainbow of  Desires ว่าละครนี้จะช่วยเยียวยาคนในสังคมได้อย่างไร และพวกเขาใช้กระบวนการอะไรเพื่อทำให้คนได้ทบทวนและรู้จักตนเองได้ดีขึ้น


จากซ้าย วิปัศยา อยู่พูล, ศรชัย ฉัตรวิริยะชัยและอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

Rainbow of  Desires  คืออะไร

ศรชัย: การอบรมละครเพื่อการเยียวยาหรือ Rainbow of  Desires  เริ่มต้นจากที่นักละครชาวกรีก อมิต รอน (Amit Ron) ติดต่อมาร็องดูเพราะเรามีชื่ออยู่ในเพจละครของผู้ถูกกดขี่ หลายคนอาจแปลกใจทำไมมาร็องดูซึ่งทำละครของผู้ถูกกดขี่มาทำละครเพื่อการเยียวยา เรามองว่า ทำงานด้านการละครเพื่อการเยียวยาเป็นงานศิลปะที่ใช้กระบวนการละครของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นกระบวนการของออกุสโต โบอาล (Augusto Boal) ชาวบราซิล

กระบวนการละครของผู้ถูกกดขี่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในยุค 70‘s จากกลุ่มนักกิจกรรมที่ต้องการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วก็ถูกพัฒนามาเรื่อยใน 70 กว่าประเทศ ละครของผู้ถูกกดขี่มีเครื่องมือหลากหลาย เช่น อิมเมจเธียเตอร์หรือละครภาพนิ่งที่อาศัยร่างกายมาสร้างเป็นภาพโดยไม่ต้องใช้ภาษา, ฟอรัมเธียเตอร์หรือละครแทรกสด, นิวส์เพเพอร์เธียเตอร์หรือละครหนังสือพิมพ์ รวมไปถึง The Rainbow of  Desire ด้วย

เมื่อละครของผู้ถูกกดขี่เข้าสู่ยุโรป กลับพบว่า ในยุโรปการกดขี่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเป็นการกดขี่เชิงภายใน เช่น เรื่องฐานะเศรษฐกิจ ความยากจน ขูดรีดแรงงาน ฯลฯ ซึ่งกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตคนไปแล้ว คนยุโรปกดขี่ตัวเองจากประเทศที่พัฒนามาก จริยธรรมหรือข้อตกลงทางสังคมก็มากขึ้นจนเกิดการเก็บกดอารมณ์ดังที่ในเวิร์คช็อปแสดงให้เห็น คนยุโรปพูดถึงเรื่องความเหงา ความหดหู่ ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ กระบวนการละครจึงหันความสนใจมาที่เรื่องจากภายในและเกิดเป็น Rainbow of  Desires

Rainbow of Desires เป็นอย่างไร

เป็นกระบวนการละครที่จับกับเรื่องเล่าในอดีตอันติดขัดจนเกิดสภาวะบางอย่างที่หยุดยั้งเขาไว้ ปมเหล่านี้ยังคงอยู่และตราตรึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะค้นออกมาไหม แม้ไม่ใช่กระบวนการจิตบำบัดแต่ช่วยส่งเสริม เฉดสีแต่ละสีแทนที่ความต้องการและความกลัว วิธีการคือเราจะแบ่งเหตุการณ์ ตัวละคร การตัดสินใจ ฯลฯ เป็นเฉดสีและท่าทางต่างๆ ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยคนในกระบวนการกลุ่ม เมื่อได้เฉดสีและท่าทางแล้วคนในกลุ่มที่ทำท่าทางได้ตรงกับเฉดสีนั้นๆ จะทำท่าทางซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเสียงในอดีต เช่น เสียงจากพ่อจากแม่ที่บอกว่า “ผู้ชายต้องเข้มแข็ง”เพื่อให้เราได้ทบทวนตัวเองจากมุมบุคคลที่ 3 และรู้จักตัวเองมากขึ้น

กระบวนการนี้ยังไม่เคยถูกทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ประเทศไทยเราก้ำกึ่ง คนกลุ่มหนึ่งเหมือนคนในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนอีกกลุ่มยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนา ทำให้มีเรื่องที่ยังต้องต่อสู้จากโครงสร้างที่กดขี่ รวมถึงมีคนที่มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย มายาคติที่ว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้นไม่ต้องพัฒนาด้านในจิตใจจึงไม่จริง ทุกคนต้องการการเยียวยา เช่นในประเทศอินเดียที่มีปัญหาการกดขี่ผู้หญิง กระบวนการของ Rainbow of  Desires นั้นสลับซับซ้อนมาก ตอนเรียนจากอินเดียมาก็คืนวิชาหมดเพราะแค่ลำดับกระบวนการยังยากเลย คอร์สกระบวนการจิตปัญญาหรือกระบวนการเยียวยาที่อบรมอยู่ในเมืองไทยก็มีความคล้าย เมื่อกระบวนการนี้เข้ามาในไทยจึงคิดว่า เป็นคอร์สอบรมที่คนไทยน่าจะสนใจ


ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ที่ผ่านมามีการอบรมมาแล้วกี่ครั้ง เป็นอย่างไรบ้าง

สองครั้ง ที่ผ่านมามีเรื่องปัญหาครอบครัว ที่เป็นแหล่งเริ่มต้นของประเด็นความขัดแย้งที่ติดค้างเป็นตะกอนอยู่ข้างในใจ และมีผลต่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณของแต่ละคนด้วยเพราะมีความซับซ้อน ครอบครัวเป็นทั้งแหล่งกำเนิดของความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขแต่ในขณะเดียวกันก็มีพันธะอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วย ซึ่งล็อคศักยภาพของใครหลายคนตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยเช่น ซีรีย์เลือดข้นคนจาง

การทำกลุ่มดีตรงที่เรามีเพื่อนร่วมคิดช่วยให้ก้าวไปข้าวหน้า แต่เราจะไม่บอกว่าคุณต้องทำอะไร เพราะเชื่อมั่นว่า มนุษย์เลือกตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจเองถ้าไม่รู้ว่า อิทธิพลต่างๆที่ส่งผลต่อตัวเรามีอะไรบ้าง การทำกระบวนการจึงช่วยปลดล็อคและทำให้เห็นชัดว่า อิทธิพลต่างๆ ของคนรอบข้างส่งผลอะไรกับเรา และจะไม่บังคับว่ามีทางเลือกที่ถูกต้องหรือคุณต้องทำชีวิตของคุณให้ดีเพราะเมื่อไหร่ที่บอกแบบนั้นแสดงว่า คำตอบจำกัดความเป็นมนุษย์ไปแล้ว

อรรถพล: ในฐานะที่เคยเข้าร่วมได้แชร์ประสบการณ์แต่ไม่ถึงขั้นถอดจนเห็นภาพ เรารู้สึกเชื่อมโยงเพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งพาเรากลับไปมองสิ่งที่เราไม่กล้าเผชิญและเตรียมตัวให้เราเผชิญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันทำให้พี่เห็นว่าตัวเราเองทุกวันนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่ มันไม่ใช่เสียงของเราอย่างเดียว แต่มีตัวละครอื่นๆที่เป็นเสียงอยู่ในหัวของเรา

ศรชัย: กระบวนการจะไม่กำจัดปัญหาหรือตัวตนที่มีปัญหากับเรา ไม่ฆ่าให้ตายเพราะไม่เชื่อว่าจะตาย เสียงบางเสียงอยู่ในหัวเราตั้งนาน กระบวนการแค่ 3 วันก็เอาออกไปไม่ได้เลยต้องหาวิธีจัดการและดูแล บางเสียงมีประโยชน์กับชีวิต แต่อาจอยู่ผิดที่ผิดเวลา กระบวนการจึงจะช่วยจัดวางตำแหน่งให้ถูกต้อง ในต่างประเทศทำเรนโบว์กันในหลายที่ เช่น เวลาสั้นๆในที่ทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกผิดใจในที่ทำงาน อาจแบ่งความรู้สึกเป็นแองเจิลกับเดม่อนหรือปีศาจกับเทวดาก็ได้

ทำไมถึงต้องทำกระบวนการกลุ่ม

เพราะบางครั้งเราคิดเองไม่ได้ เวลาอยู่ในปัญหาเราไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของตัวเองได้ ถึงแม้บางคนให้คำปรึกษาคนอื่นได้หมดเลยแต่ก็แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้เพราะอยู่ใกล้ปัญหามากเกินไป กระบวนการกลุ่มจะช่วยเชื้อเชิญคนที่ใกล้สถานการณ์นี้ช่วยกันหาทางออก คนที่มีปัญหาจะได้เป็นผู้เฝ้าดูการตัดสินใจอื่นๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนเพื่อให้เห็นว่า มีตัวเลือกต่างๆ สำหรับเรื่องราวที่คุณอาจจะยังต้องเจออีก

บางคนไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปัญหามากมายขนาดนั้นทำไมต้องมาเรียนรู้ แต่ถ้าหากเราเดินผ่านร้านหนังสือแล้วอยากจะอ่านหนังสือเพิ่มความสัมพันธ์ หรือการสร้างคุณค่าแล้วล่ะก็แสดงว่าคุณกำลังต้องการที่จะพัฒนาตัวเองในแง่มุมใดในแง่มุมหนึ่ง ก็ควรจะมาทำกระบวนการนี้

ทำไมคนเราถึงไม่กล้าเล่าเรื่องให้คนใกล้ตัวฟัง แต่กลับเล่าให้คนแปลกหน้าฟังได้

เพราะหลายครั้งพวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เรามีบาดแผลต่อกันและกันและมีส่วนในการทำร้ายกันและกัน ดังนั้นการเปิดการสนทนาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นคนในครอบครัวยิ่งเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดเพราะ ทุกคนรู้บาดแผลของแต่ละคนและอาจผิดใจกันได้ เราแคร์ว่าเรื่องราวที่เราแชร์ไปจะกระทบกับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในไทย บทบาทการเป็นพ่อ แม่นั้นมีอำนาจ คุณค่าความเชื่อทางวัฒนธรรมที่สังคมส่งต่อกันมาว่า เด็กกว่าก็ต้องเชื่อพ่อแม่ เรามีสิทธิ์ที่จะฟังแต่เราไม่มีสิทธิที่จะถามกลับว่าเราไม่ทำแบบนี้ได้ไหม เช่น พ่อแม่อยากให้เรียนนู่นเรียนนี่ หรือในครอบครัวคนจีนที่มีความคาดหวังต่อลูกมาก

คนที่เข้าร่วมกระบวนการเป็นคนแบบไหน

เป็นคนที่ผ่านการแสวงหาความงอกงามจากที่อื่นๆมาแล้ว เช่น ศาสนา ศิลปะบำบัด วาดรูป เต้นรำ ซึ่งก็ช่วยเยียวยาได้แต่ภาวะการอยู่กับตัวเองจะต่างกัน การทำศิลปะบำบัดจะอยู่กับตัวเองเยอะ แต่กระบวนการละครจะอยู่กับตัวเองและคนอื่นด้วย ซึ่งจะได้ในเรื่องการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

กระบวนการ Rainbow of  Desires ในแต่ละประเทศเหมือนกันหรือไม่

ในโลกนี้สอนหลายที่ การเรียนจะขึ้นต้นว่า Rainbow of  Desires แต่จะพัฒนาโดยวิธีการที่ต่างกัน อย่างที่ไทย กระบวนการพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาบทละครและการแสดง ผสมกับการบำบัด

แล้วคนพิการน่าไปเรียนไหม

อรรถพล: น่าไปเรียน ความรู้สึกของเราหลังได้เข้าร่วมและเป็นคนพิการเอง รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เรากลับไปเห็นร่องรอยของตัวเองว่า เมื่อก่อนฟังเสียงของคนอื่นมากเกินไปและไม่ได้สงสารตัวเองเลย ไม่ได้กลับมามองย้อนว่า ตัวเองอยากจะทำอะไร ตอนนี้เรามีวิธีที่ละมุนละไมมากขึ้นในการปลุกตัวเองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และถึงแม้คนที่ร่วมกระบวนการอาจไม่ได้เป็นคนพิการทั้งหมด แต่กระบวนการกลุ่มก็จะมีวิธีที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง และโหวตกันว่าเรื่องไหนที่ทุกคนอยากดูและสนใจมากที่สุด เราเองก็รู้สึกอินกับเรื่องการกดขี่ของคนอื่นๆ และน่าที่จะเรียนรู้

หลายครั้งเมื่อถึงกระบวนการจำลองเฉดสี เราเองก็ออกไปเล่นเป็นตัวเดวิล แสดงท่าทางต่อย โหดร้ายมากในฉากของเรื่องราวของคนอื่น เราเข้าใจในอารมณ์ความโมโหและทำให้ได้ปลดล็อคความรู้สึกที่เก็บกดข้างในของเราด้วย(หัวเราะ)

คนพิการมักโดนกดขี่จากเรื่องใกล้ตัว เช่น สภาพแวดล้อม และครอบครัว สองเรื่องนี้ทำให้คนพิการกดขี่ตัวเองไปอีกว่า มึงไม่มีปัญญาทำอะไรหรอก สูญเสียไปแล้วจะไปทำอะไรได้ หรือแค่เรื่องพื้นฐานอย่างการแต่งตัว ที่คนพิการเองก็อาจโดนกดขี่จากครอบครัวหรือผู้ช่วยเหลือ ผู้ดูแลที่เหนื่อยจะต้องมาใส่เสื้อผ้าให้จนอาจไม่ได้ตัดสินใจสิ่งที่ต้องการใส่ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยคลี่คลายให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้วกูไม่อยากใส่แบบนี้ มีเสียงอะไรที่กดตัวเราบ้าง เสียงของคนดูแล เสียงของความห่วงใย เสียงของความเหนื่อยล้าหรือว่าเสียงของความเป็นพ่อเป็นแม่

ทำอย่างไรให้คนในกระบวนการแลกเปลี่ยนและคุ้ยความทรงจำออกมา

ศรชัย: เราจะไม่คุยกันด้วยสมองเพราะสมองเป็นตัวเซนเซอร์สิ่งต่างๆ กระบวนการละครทำให้เราข้ามการใช้ภาษามาที่ตัวร่างกายที่มีความซื่อตรงมากกว่า พอเราใช้ร่างกายเป็นตัวสื่อแล้วโอกาสที่เราจะถูกหลอกด้วยความคิดจะน้อยลง ใช้ร่างกายเพราะเชื่อว่าร่างกายจะไม่โกหก เวลาเราเล่าเรื่องของเราให้ใครฟังทุกคนจะมีไอเดียบางอย่าง มีความรู้สึกบางอย่างแล้วความรู้สึกเหล่านั้นก็เป็นเรื่องจริงเหมือนกัน เขาก็จะออกมาทำท่าอะไรบางอย่างตามที่รู้สึก ดังนั้นจะไม่มีหรอกที่เรามานั่งอธิบายว่า ปัญหาคืออะไรตามหลักจิตวิทยาแต่เราจะลงมือกันเลย

ฝากอะไรถึงคนที่สนใจ

อรรถพล: การอบรมคอร์สนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับทุกคนที่อยากเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ที่จะนำเราไปสู่อีกมิติหนึ่งที่เรายังไม่เคยเห็น อยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาร่วมสัมผัส เพื่อค้นพบหรือค้นหาตัวเองว่าข้างในนั้นมีใครอยู่บ้าง

ศรชัย: ใครก็ได้ที่อยากจะก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองหรือมองหาคอร์สอบรมที่จะช่วยทำให้เข้าใจตัวเองหรือผู้อื่นมากขึ้น หากเห็นคุณค่าว่า ถ้าเราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจะช่วยทำให้คนที่เรารักอยู่กับเราได้ดีขึ้นก็ควรจะทดลองมาเรียนดู หรือแม้แต่คนที่ทำงานด้านการเยียวยาความสัมพันธ์หรือท่ามกลางปมขัดแย้งที่ต้องให้คำปรึกษา การอบรมนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะทำให้เราสามารถเอาไปประยุกต์ทำงานบำบัดกลุ่มได้ 

 

หากสนใจเข้าร่วมกระบวนการสามารถสมัครได้ที่แฟนเพจ Malongdu Theatre

ถ่ายภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราช