Skip to main content

พก.เตรียมเปิดศูนย์บริการคนพิการกทม. 4 มุมเมือง ด้วยนโยบาย “ศูนย์บริการใกล้ตัว ใกล้ใจ สำหรับคนพิการ” ตามเป้าหมายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) โดย พก.ได้ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างความเท่าเทียมในสังคม ด้วยแนวคิดเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง" ของสังคม เช่น การจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถดำรงชีวิตอิสระ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำเพื่อการพึ่งพาตนเองได้

พก เตรียมเปิดศูนย์บริการคนพิการ 4 มุมเมือง
ภาพจาก เว็บไซต์เดลินิวส์

 

ทั้งนี้ มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เป็นกลไกสำคัญที่กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการขึ้น เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ด้วยงบประมาณของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และได้ผลักดันให้เกิดศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในระดับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 1,752 ศูนย์ โดยสนับสนุนงบประมาณขับเคลื่อนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

สมคิดกล่าวว่า กระทรวง พม.โดย พก.จัดกิจกรรม “ส่งความสุข...ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2561 เพื่อคนพิการศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ของขวัญปีใหม่ ก้าวไปกับ พม.ที่มอบให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นศูนย์รวมการให้บริการและอำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One-Stop Service สำหรับคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรด้านคนพิการ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งช่วยส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และบริการของภาครัฐ ตลอดจนการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ

ทั้งนี้ ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร นับเป็นต้นแบบศูนย์แห่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการ (Disabilities Hub) ของประเทศไทย มีภารกิจจัดบริการด้านต่างๆ ให้แก่คนพิการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย 1) การออกบัตรประจำตัวคนพิการ 2) บริการกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อประกอบอาชีพ 3) บริการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการหรืออุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ

นอกจากนี้ เพื่อให้คนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร สามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และบริการของภาครัฐ ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งจะส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการและครอบครัว พก.จึงมีนโยบายขยายจุดให้บริการของศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (Service Link) จำนวน 4 จุด ในลักษณะ “ศูนย์บริการใกล้ตัว ใกล้ใจ สำหรับคนพิการ” โดยขอใช้พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ และมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร

ประกอบด้วย 1)ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (ลาดกระบัง) ใช้พื้นที่การเคหะแห่งชาติ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 2) ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (มีนบุรี) ใช้พื้นที่อาคารศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิเศษมีนบุรี มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร 3)ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (สายไหม) ใช้พื้นที่การเคหะแห่งชาติ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหม 4) ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (อ้อมน้อย) ใช้พื้นที่การเคหะแห่งชาติ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพุทธมณฑลสาย 5 (อ้อมน้อย) ด้วยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ เช่น การเคหะแห่งชาติ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อคนพิการ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาสังคม

พก เตรียมเปิดศูนย์บริการคนพิการ 4 มุมเมือง

“การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานครนั้น พก.มีเจตนารมย์เพื่อให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และเครือข่าย ได้รับความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการสำหรับคนพิการ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดสำหรับคนพิการ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดบริการแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายและเจตนารมณ์ของกระทรวง พม.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2564 ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง (Quality Management)” สมคิดกล่าว

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ บ้านพิทักษ์สิทธิคนพิการให้สามารถจัดบริการคนพิการในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้จริงตามกฎหมายกำหนด โดยศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดบริการให้แก่คนพิการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ที่พร้อมจัดบริการตามกฎหมายอย่างครบถ้วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพื่อการบูรณาการความร่วมมือประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนพิการเป็นสำคัญ