Skip to main content

สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยในอดีตประเทศต่างๆ ในสหราชอาณาจักรถือเป็นชาติสมาชิกในสหภาพยุโรป (European Union: EU) สหภาพที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีชาติสมาชิกจากประเทศต่างๆ ในยุโรปมากมาย ทว่าปัจจุบัน สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรือที่เรียกว่า เบร็กซิต (Brexit) ซึ่งมาจากการรวมคำ 2 คำ คือ British+Exit และแน่นอนว่า ย่อมเกิดผลกระทบ อีกทั้งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่กับกลุ่มคนพิการ

อย่างที่รู้ๆ กัน อียูมีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องสิทธิคนพิการในสหราชอาณาจักร ดังนั้น การถอนตัวของสหราขอาณาจักรออกจากการเป็นชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น นำมาซึ่งการลดระดับการพิทักษ์สิทธิคนพิการจากการคุ้มครองของศาลยุติธรรมยุโรป เช่นเดียวกันกับการถูกเพิกถอนการสนับสนุนทางการเงินจากหลายๆ กองทุนในยุโรปอีกด้วย


ภาพ https://www.theguardian.com/social-care-network/2017/aug/14/brexit-disability-rights-eu-legislation#img-1

การลดระดับการพิทักษ์สิทธิคนพิการ

ปี 2538 เป็นปีที่สหราชอาณาจักรเริ่มใช้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในคนพิการ (Disability Discrimination Act: DDA) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองคนพิการจากการถูกเลือกปฏิบัติ พ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมไปถึงการศึกษา การคมนาคม การจ้างงาน และการบริการด้านอื่นๆ อย่างไรก็ดี ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ได้หมายรวมถึงการบังคับใช้กับบริษัทห้างร้านขนาดเล็กที่มีจำนวนลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน 

การให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการลงทุน

การออกจากการเป็นชาติสมาชิกอียูนั้นทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในสวัสดิการทางสังคม เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานกับเงื่อนไขที่หนักข้อขึ้นเมื่อไม่มีสัมพันธภาพกับอียู นักลงทุนที่เข้ามาก็ย่อมน้อยลงไปด้วย การให้บริการต่างๆ ของคนพิการย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างไม่ต้องสงสัย

ในส่วนแรกของกฎหมายอียูที่ให้ความคุ้มครองคนพิการของปี 2543 เป็นกรอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการจ้างงาน และการประกอบอาชีพ เพื่อป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน จากสาเหตุด้านเชื้อชาติ เพศสภาวะ ศาสนา และความพิการ การให้ความคุ้มครองจากกฎหมายของอียูนี้ ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงสถานประกอบการณ์ขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม สหราชอาณาจักรจึงต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ในปี 2557

ในปี 2551 การดำเนินการของสหภาพยุโรปมีผลมากกว่าแค่ก่อให้เกิดการปรับกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการในสหราชอาณาจักร แต่จากผลการตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรป ทำให้การกีดกันด้านการจ้างงานคนพิการที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่มิชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชารอน โคลแมน ผู้ดูแลคนป่วยและคนชรากล่าวว่า เธอเคยถูกบังคับให้ลาออกจากงาน เพราะความพิการของลูกชายเธอ ศาลยุติธรรมจึงออกกฎเกณฑ์ว่า กฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพการจ้างงานในยุโรป ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวคนพิการเท่านั้น ทั้งยังหมายรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการด้วย

ความหมายของ Brexit ในมุมมองของ The Guardian อะไรคือการออกจากสหภาพยุโรป

เว็บไซต์ The Guardian หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษมองว่า การเปลี่ยนผ่านของสหราชอาณาจักร มี 3 ข้อที่น่าสนใจ คือ ความต้องการดั้งเดิมของบริเทนคืออะไร จุดยืนของรัฐบาลคืออะไร และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit เป็นอย่างไร

ผลประโยชน์ของคนพิการนั้นเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของสหภาพยุโรป เช่น การออกกฎหมายในปี 2547 ที่มีการออกข้อบังคับการประสานความร่วมมือด้านความมั่นคงทางสังคม ประชากรที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรสามารถอาศัยในประเทศต่างๆ ที่เป็นชาติสมาชิกของอียูได้ และยังได้รับประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีก เช่น การได้รับเงินสำหรับคนพิการหรือผู้ป่วยเรื้อรัง

นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค.ปี 2558 สหภาพยุโรปได้เสนอ พ.ร.บ.การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก (European Accessibility Act) โดยในขั้นต้น มีจุดประสงค์ให้เกิดการพัฒนาฟังก์ชันการเข้าถึงได้ที่เหมาะสมภายในตลาด ได้แก่สินค้าและบริการที่เข้าถึงได้ เพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการและคนสูงอายุเพื่อขจัดปราการขวางกั้นที่เกิดจากข้อกฎหมายในแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกัน

แต่เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียู ข้อบังคับในส่วนนี้ก็จะไม่มีผลในสหาราชอาณาจักรอีกต่อไป

กฎหมายของอียูก็จะไม่คุ้มครองประชากรและประเทศต่างๆ ในสหราขอาณาจักรจากความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องด้วยกฎหมายของสหภาพยุโรปอีกต่อไป

การลดมูลค่าการลงทุนในโครงการต่างๆ ทางสังคมและการจ้างงาน

นอกจากเรื่องสิทธิและข้อกฎหมายต่างๆ แล้ว การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรยังส่งผลต่อการสนับสนุนทางการเงินสำหรับคนพิการ

ในงานสัมมนาล่าสุดโดยองค์กรอาสาสมัครเพื่อคนพิการ (Voluntary Organizations Disability Group)  ผู้นำองค์กรได้อภิปรายความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวลใจด้านกองทุนการเงินสำหรับคนพิการ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาในการดำเนินการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนพิการต่อเนื่องหลังจากปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่คาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรจะพาตัวเองออกจากการเป็นชาติสมาชิกยุโรปอย่างสมบูรณ์   

เดวิด ฟินช์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาระหว่างประเทศและการวิจัยของ National Star กล่าวว่าทางองค์กรมีความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนในการดำเนินการโครงการต่างๆ ทั้งนี้ National Star กำลังศึกษาโมเดลหลากหลายที่จะช่วยสนับสนุนคนพิการวัยหนุ่มสาว เรื่องการศึกษาในประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเบลเยี่ยม ทั้งยังตั้งเป้าพัฒนาโครงการการอบรม ในปี 2562 แต่การอบรมดังกล่าวอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่สามารถเข้าถึงกองทุนสนับสนุนทางการเงินได้

นอกจากนี้การจ้างงานคนพิการก็เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ในระหว่างปี 2557-2563 กองทุนทางสังคมของยุโรปและกองทุนการพัฒนาภูมิภาคยุโรปได้ลงทุนราว 11.8 พันล้านยูโร เพื่อให้การดูแลด้านการเข้าถึงการจ้างงานคนพิการ และได้พิจารณาวงเงินสนับสนุน 4.9 พันล้านยูโร และยังจัดหาทุนให้กับอีก 6 โครงการในประเทศสก็อตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ อังกฤษ และยิปรอลต้าร์ด้วย ซึ่งหากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะยังได้รับเงินสนับสนุนการจัดหาทุนให้กับโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาหรือไม่ในอนาคต