Skip to main content

เมื่อไม่นานมานี้ ภาพยนตร์สารคดี "เชอรี่" โดยโสภณ ฉิมจินดา เรื่องราวของเธอซึ่งนั่งวีลแชร์ขายพวงกุญแจตามย่านสถานบันเทิงที่พัทยา สร้างความรู้สึกว้าวให้เราไม่น้อย เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะเนื้อหาที่สื่อสารไม่ทำให้เห็นความลำบากตรากตรำของเชอรี่ แต่กลับมุ่งให้เห็นความเป็นมนุษย์ ความต้องการ และแรงปรารถนาโดยเฉพาะเรื่องเซ็กส์และความรักที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยคำว่า "ความพิการ"


โสภณ ฉิมจินดา

โสภณ ฉิมจินดา เป็นผู้กำกับ เป็นช่างภาพ เป็นคนชอบเดินทาง และเป็นกลุ่มที่ความหลากหลายทางเพศ เดิมทีเขาเป็นคนมีร่างกายสมบบูรณ์ครบถ้วน แต่ในปี 2554 อุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้ร่างกายเขาไม่มีความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงมาถึงปลายเท้า

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาตัวในโรงพยาบาล เขาได้เรียนต่อในโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ จังหวัดพัทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับคนพิการ ที่โรงเรียนฝึกอาชีพนั่นเองเขาได้เจอรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อ ‘เชอรี่’ นอกจากเชอรี่จะพิการแล้ว เธอยังเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย เมื่อใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด เชอรี่อยู่กับครอบครัว เลี้ยงดูหลานและเขียนนิยาย แต่เมื่อเธอใช้ชีวิตที่พัทยา อาชีพของเธอคือการขายของที่ระลึกตามย่านสถานบันเทิง เพื่อนำเงินไปปรนเปรอเสื้อผ้าตามสมัยนิยมและซื้อบริการทางเพศ

ลองคิดตาม เราเคยเห็นคนพิการเข้าสถานบันเทิงบ้างไหม? ยิ่งไปกว่านั้นเราแทบไม่เคยรู้เลยว่า คนพิการที่เป็นเพศหลากหลาย ‘คิด’ อะไรอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง โสภณ ฉิมจินดา จึงทำสารคดีชีวิตของเชอรี่และนำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไปฉายตามงานต่างประเทศซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จนมีผู้สนใจขอนำสารคดีเรื่องนี้ไปเป็นกรณีศึกษาในห้องเรียนประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ของคนพิการ อ่านมาถึงตรงนี้เราคงอยากรู้แล้วว่า เหตุใดโสภณจึงเลือกสื่อสารประเด็นที่คนมักเหนียมอาย และมักถูกแอบซ่อนอยู่ในส่วนที่มืดลึกของสังคมเหล่านี้

---

คุณเห็นอะไรในตัวเชอรี่

โสภณ: ประเด็นหนึ่งที่รู้สึกสนใจอยู่แล้ว คือเรื่องความทับซ้อนของการเป็นเพศที่สามกับความพิการ เวลาเราพูดถึงเพศที่สาม เราจะรู้สึกว่า เขาคือพลเมืองขั้นที่ 2 และคนพิการเองก็ถูกจัดว่า เป็นพลเมืองขั้นที่ 2 เหมือนกัน เวลาที่ 2 สถานะนี้อยู่ในบุคคลคนเดียวกัน ความกดทับทางปัญหาหรือทางความรู้สึกก็เกิดขึ้น ก็เลยเกิดเป็นคำถามที่ว่า เฮ้ย มันน่าสนใจ และอยากจะทำสารคดีเรื่องนี้

คนพิการแสดงตัวว่าเป็นเพศที่สามเยอะไหม

ก็ปกตินะ ถ้ามองความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์หรือเป็นคนเหมือนกัน เพศที่สามในสังคมไทยก็อยู่ในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มคน แต่ไอ้การยอมรับคำว่า ‘เพศที่สาม’ กับ ‘ความพิการ’ บางทีคนพิการทางกายภาพรู้สึกว่าตัวเองมีข้อจำกัดอยู่แล้ว ยิ่งพอเป็นเพศที่สาม ก็อาจจะไม่กล้าเปิดตัวในสังคม หรือสังคมเองก็มีพื้นที่ให้เขาเปิดตัวได้น้อยกว่า

แต่ว่าเวลาคนพิการมาอยู่รวมกันเขาก็สามารถที่จะแสดงตัวตนได้มากกว่าอยู่ในพื้นที่อื่นๆ

แล้วกับครอบครัวล่ะ?

มีทั้งประเภทที่ยอมรับกับประเภทที่ไม่ยอมรับ เพราะแน่นอนภายใต้กายภาพที่มีข้อบกพร่อง คนก็จะรู้สึกว่า หูย สารรูปอย่างนี้แล้วยังจะเป็นอีกเหรอ ทำไมไม่เจียม ทั้งๆ ที่การเป็นเพศอะไรนั้นไม่ได้อยู่ขึ้นกับสารรูป แต่ขึ้นกับข้างในตัวตน พอพื้นที่มันไม่ได้เอื้อในการยอมรับ ก็มีหลายคนที่ไม่กล้าที่จะเปิดตัวกับครอบครัว

ทำไมคนพิการที่เป็นเพศที่สามถึงไม่กล้าแสดงตัวออกมาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

ด้วยความที่สังคมบ้านเรามักจะกดคนพิการให้เป็นพลเมืองขั้นที่ 2 ยิ่งคนพิการที่อยู่ในสังคมชนบทหรือไม่ได้มีสังคมคนพิการด้วยกัน ความพิการที่เกิดขึ้นมักจะถูกกดอยู่แล้วจากสังคม แน่นอนล่ะว่า สังคมมองว่าคนพิการเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพน้อย กลุ่มคนที่ต้องรอการช่วยเหลือ ดังนั้นเวลาคนพิการอยู่ในสังคมคนไม่พิการ และถูกกดแบบนี้นานๆ คนพวกนี้ก็จะเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด รู้สึกจะต้องเจียมตัวกับความพิการที่เกิดขึ้น

เวลาคนพิการมีความต้องการทางเพศต้อง เจียมตัวหรือเหนียมอายไหม

จริงๆ แล้วถ้าจะพูดว่า ‘มันน่าอาย’ ผมว่ามันไม่น่าอายนะ มันไม่ได้เป็นการตีตราย้ำว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ถ้าเรามองคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน คนพิการก็คือมนุษย์ เรื่องเพศมันปฏิเสธไม่ได้เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว เป็นความธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป


ในภาพยนตร์เชอรี่ก็เปรียบได้ชัดเจนว่า มนุษย์ทุกคนก็ต้องกิน เวลาหิวก็ต้องกิน เพียงแต่ว่า ตัวเชอรี่เองเขาหิวแล้วเขาไม่สามารถทำกินได้เอง เขาก็ต้องเลือกที่จะซื้อกิน ดังนั้นถ้าเราจะมองว่า คนพิการ หรือพูดแบบเท่ากันก็คือ ‘คน’ เรื่องเพศจึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย กลับเป็นเรื่องที่ต้องพูดแล้วสร้างความเข้าใจมากกว่า เพียงแต่คำว่า ‘น่าอาย’ เป็นภาพของคนในสังคมบ้านเราเองที่ส่วนใหญ่ชอบคิดแทนและคิดให้ แล้วทำให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องห้ามว่า คนพิการไม่ควรจะไปแตะเรื่องเพศ

แล้วในฐานะที่เป็นคนทำสื่อรุ่นใหม่เราจะทำอะไรได้บ้าง

ต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นที่สื่อของบ้านเรา ภาพจำของคำว่า ‘คนพิการ’ มีอยู่ไม่กี่ภาพที่ถูกนำเสนอ แน่นอนล่ะ ภาพของคนพิการในสังคมบ้านเรามันก็จะเป็นประเภท 1 -ต้องทำให้ดูน่าสงสาร 2 -สื่อออกมาต้องทำให้ดูน่าสงเคราะห์ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากสังคม หรือ 3 -ต้องเป็นบทบาทที่มันเอื้อ เพื่อให้คนมาปฏิสัมพันธ์ด้วยแล้วดูดี ดูเป็นนางเอกจังเลย อะไรอย่างนี้ มีไม่กี่แบบ ทั้งๆ ที่ถ้าเรามองความเป็นมนุษย์เหมือนกัน คนพิการก็เป็นได้ทุกบทบาท จะดี จะเลว จะอะไรก็คือคนพิการคนหนึ่งถูกไหม คือคนพิการที่เป็นคนจริงๆ ที่เป็นมนุษย์จริงๆ เพียงแต่พอไอ้ภาพเหล่านี้ถูกครอบด้วยคำว่า ‘คนพิการ’ ก็เลยมองไม่เห็นคนพิการที่เป็นมนุษย์แค่นั้นเอง ยกตัวอย่าง พอคนพิการจะทำอะไรที่ออกนอกขนบของความพิการมาหน่อย (อย่างการพูดเรื่องเพศ) ก็จะดูไม่สมควร ดูไม่ดี ดูแย่  “ทุเรศสังขารไม่ดี ยังหมกหมุ่นเรื่องเพศอีก” คนก็จะคิดแบบนี้ แต่อย่าลืมสิ คนพิการก็มนุษย์นะเว้ย มันก็ต้องมีความอยาก ความต้องการเหมือนกัน

ทำไมถึงกล้าใส่ฉากสถานบันเทิงและเรื่องเซ็กส์อย่างชัดเจนในสารคดีเชอรี่?

ตัวหนังเองเป็นโจทย์ที่เราอยากให้คนได้เห็นแง่มุมของความเป็นคน ถ้าเราตัดคำว่า คนพิการ ในตัวเชอรี่ออกไป เขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ผมถือว่า ฉากนี้ก็เป็นฉากทั่วไปที่อยู่ในสังคม เป็นความจริงที่เกิดในสังคมอยู่แล้ว เพียงแค่มันมีกรอบของคำว่าคนพิการเข้ามา คนก็เลยมีคำถามว่า คนพิการทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ? เดินก็ไม่ได้แล้วจะทำได้เหรอ? แล้วจะทำยังไง? ผมว่าคำถามเหล่านี้เราน่าจะทำเป็นคำตอบให้คนได้เข้าใจ

ถ้าถามว่า กลัวไหมที่ทำประเด็นเหล่านี้ ผมไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรเลยนะ กลับรู้สึกว่า อยากจะเปิดประเด็นให้เป็นประเด็นที่สังคมทำความเข้าใจและมีมุมมองต่อคนพิการที่กว้างมากขึ้น ลึกมากขึ้นกว่าเห็นคนพิการในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็น

เซ็กซ์ของคนพิการ?

หลายๆ ครั้งเวลาเราพูดถึงคำว่า ‘เซ็กส์’ บางทีก็มีอยู่ไม่กี่ภาพในความคิดคนไม่พิการ คือการสอดใส่อะไรแบบนั้น แต่บางครั้งไอ้คำว่า “เซ็กส์” ของคนพิการนั้นเป็นเรื่องของความพึงพอใจความรู้สึก บางเคสเซ็กส์คือการได้สัมผัส การได้จับ การได้หอม ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องสอดใส่อย่างเดียว

ตัวอย่างหนึ่งคือ ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ที่พูดถึงเรื่องของคนพิการ ซึ่งพิการไร้ความรู้สึกตั้งแต่ต้นคอลงไป แต่เขากลับพึงพอใจการถูกลูบติ่งหู บางทีก็บอกไม่ได้ว่า เซ็กส์ของคนพิการต้องเป็นรูปแบบไหน เนื่องจากเวลาเราพูดถึงคนพิการ คนมักเหมารวมหมดว่า คือความบกพร่องทางร่างกาย ทั้งๆ ที่ความบกพร่องแต่ละคนไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน ดังนั้นผมพูดได้เลยว่าไม่มีมาตรวัดอะไรที่เป็นตัวชี้วัดได้ เรื่องเซ็กส์ก็เหมือนเสื้อผ้าที่แต่ละคนจะต้องตัดเพื่อให้เข้าพอดีกับตัว เราจะไม่สามารถพูดได้ว่า คนประเภทแบบนี้เซ็กส์จะต้องเป็นแบบแผนอย่างนี้ มันเทียบกันไม่ได้

ความเสียหายของไขสันหลังคนเป็นอัมพาตอย่างผม บางคนอาจจะไม่รู้สึก 100% เลย คือใช้การไม่ได้ บางคนอาจจะรู้สึกได้ 10% 20% หรือ 30% บางคนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ บางคนไม่ได้ มันแตกต่างกันไปหมดเลย

คนในสังคมควรวางตัวต่อคนพิการที่หลากหลายทางเพศอย่างไร

จริงๆ ไม่ต้องรับมืออะไรที่มากกว่าหรืออะไรเลย คนพิการที่เป็น มันก็เหมือนกับคนอื่นๆ คนอื่นเป็นเพศที่สามอย่างไร ผมว่า คนพิการก็ไม่ได้แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องรับมืออะไรพิเศษ แค่มองให้เท่ากันก็พอ อย่ามองให้ต่างอันนี้น่ะสำคัญที่สุด เมื่อไหร่เรามองต่าง...นั่นล่ะครับ คนพิการก็จะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากความ ‘ปกติ’ ของคนทั่วไป

สังคมปัจจุบันกับคนพิการในความคิดของคุณโสภณ?

ทุกวันนี้สังคมบ้านเรากับคำว่า ‘คนพิการ’ หลากหลายมากขึ้นนะครับ ผมเห็นกลุ่มคนพิการรุ่นใหม่เยอะที่ออกมาอยู่ในพื้นที่สังคม และมีมุมมองแบบคนรุ่นใหม่ สังคมเองก็มีพื้นที่ให้กับคนพิการมากขึ้น สื่อเองก็มีบริบทในสังคมที่ผมว่าหลากหลายขึ้น ดังนั้นการยอมรับคนพิการในสังคมถือว่า ดีไหม ก็ใช้คำว่า ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปัจเจกที่อยู่ในใจของคนพิการด้วย หากถ้าใจพร้อมก็กล้าที่จะออกมา

ในสังคมยุคใหม่ คนพิการควรออกมาเรียกร้องมากขึ้น หรือต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น?

ทุกอย่างต้องเป็นคู่ขนานไปในการทำงาน พาร์ทหนึ่งคือเรื่องของสังคม บางครั้งเราก็ต้องใช้สิทธิของเราที่จะเรียกร้อง แต่ในพาร์ทส่วนตัวปัจเจกเอง บางทีเราก็ต้องรับผิดชอบความเป็นคนพิการในตัวเองเหมือนกัน ผมถือว่า มันเป็นเส้นที่ต้องขนานกันไปกับสังคม บางครั้งคนพิการ ออกมาเรียกร้องแล้วก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้มาตรการทางสังคมเข้ามา ผมเชื่อว่า ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราเอง และอีกหน่อยสังคมจะเปลี่ยนไปเอง ซึ่งผมว่าสังคมพร้อมจะเปลี่ยนนะ แต่ขอให้เขาเรียนรู้จากคนพิการเองว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เราอยู่ร่วมกัน

ถ้าคนพิการไม่ออกมาสังคมก็ไม่รู้หรอกว่า เขาต้องดูแลยังไง จะต้อนรับยังไง เราไม่ต้องรอให้อะไรพร้อม ออกไปบอกเขา ออกไปให้เขาเรียนรู้กับความพิการที่มีอยู่ในตัวเรา แล้วสังคมจะเปลี่ยนเองถ้าการมีอยู่ของเรามันมากพอ

เรื่องของมุมความคิดแน่นอนว่าบอกเล่ากันไม่ได้ บางคนที่ถูกกระทำมาซ้ำๆ ก็ยากที่จะไปเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าบางครั้งต้องเข้าใจว่าคนรุ่นก่อนเขาถูกกระทำจากสังคม จากรอบข้าง มีมุมมองมาอย่างนี้

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผมจะบอกตลอดว่า ทุกอย่างมันเป็นเรื่องกระบวนการคิดหรือ Mindset ของเรา อยู่ที่หัวใจของเราแค่นั้นเอง เรื่องอื่นไม่ใช่ปัญหา ถ้าเราพร้อมเมื่อไหร่และไม่เอาความพิการมาเป็นปัญหา ผมเชื่อว่า ทุกพื้นที่ของบ้านเราคนพิการไปได้หมด

ทำอย่างไรให้คนพิการ กล้าที่จะก้าวออกมา

ขั้นแรกเลยก่อนที่จะก้าวออกมาจากบ้านได้ต้องต่อสู้กับสิ่งที่อยู่ภายในก่อน หลายๆ คนที่พิการภายหลังมีบางคนเป็น 10-20 ปี ไม่กล้าออกจากบ้านเลย ไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเลย รู้สึกอายรับไม่ได้กับความเป็นคนพิการของตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่คุณยอมรับกับความพิการที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองได้ กล้าที่จะออกมา ผมพูดเสมอ มันคือบันไดก้าวแรกและก้าวที่สำคัญของคนพิการ คือการยอมรับความพิการที่มีในตัวเราเอง เมื่อไหร่ที่คุณยอมรับกับมันได้ เปิดประตูบานนั้นออกมาได้ ก้าวออกมาได้ ชีวิตมันเดินหน้าต่อได้แน่นอนทุกคน

เราเชื่อรึเปล่าว่ามนุษย์เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น

ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วความพิการไม่ใช่ปัญหา สิ่งสำคัญของคนพิการอยู่ที่ใจมากกว่า เมื่อไหร่ที่ตัวคุณก้าวข้ามความพิการในตัวคุณเองได้ทุกอย่างมันก็พร้อมสำหรับการออกมาใช้ชีวิต แม้แต่ก่อน ต้องยอมรับว่าคำว่า ‘คนพิการ’ มากับการไม่ยอมรับของสังคมหรืออะไรก็แล้วแต่ มุมมองคนไม่พิการจึงกดให้คนพิการรู้สึกว่า ไม่สามารถก้าวข้ามคำพิการในตัวเองได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่กล้าที่จะข้ามออกมา ผมเชื่อว่าไม่มีข้อจำกัดครับ


ภาพยนตร์สารคดี เชอรี่