Skip to main content

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘กล่องดินสอ’ ผู้ตั้งคำถามกับการ ‘ให้’ ได้ริเริ่มเส้นทางธุรกิจแบบท้าทายสังคมบนฐานความคิดที่ตั้งคำถามกับคุณค่าของการให้เปล่า และตอบคำถามนี้ด้วยการผลิตสินค้าให้คนพิการ ซื้อ! เขาเชื่อว่าวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้สังคมของคนพิการและคนไม่พิการดีขึ้น การ ‘หากิน’ กับคนพิการ จะสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

สังคมไทยได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งการให้และการแบ่งปัน และคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนขี้สงสาร หรืออาจเพราะความเชื่อเรื่องการทำบุญตามหลักศาสนา หลายคนจึงเคยชินกับการให้ทานผู้ด้อยโอกาส เมื่อพบเห็นก็อยากหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ ให้ โดยลืมคิดไปว่า สิ่งที่ผู้ด้อยโอกาสไม่มีและต้องการที่สุดคือ ‘โอกาส’ ต่างหาก

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอยทองหล่อ 55 ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญของงาน ‘ThisAbleTalk’ เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ในธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อคนพิการ และชี้ให้เห็นว่า การหากินกับคนพิการนั้นดีต่อสังคมอย่างไร

...

ความฝันในการหากินกับคนพิการของผมนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 6  ปีที่แล้ว ผมเดินทางไปยังโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และพบว่าสื่อการเรียนการสอนของที่นั่นทำมาจากวัสดุประเภทกระดาษหรือโฟมที่นำมาตัดแปะ โดยผู้จัดทำก็คือคุณครูผู้ดูแลในโรงเรียน ซึ่งสื่อการเรียนเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนตาบอด แต่กลับไม่มีใครใส่ใจ จึงต้องจัดทำกันอย่างง่ายๆ และภาพต่างๆ เหล่านี้ได้จุดประกายให้ผมรู้สึกว่าน่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน ผมเริ่มออกแบบและทำสื่อการเรียนการสอนที่ว่า โดยเริ่มจากนำไปแจกจ่ายและทดลองใช้ในห้องเรียนสำหรับคนตาบอดจนครบ แล้วผมก็ได้ไอเดียในการผลิตอุปกรณ์วาดรูปสำหรับคนตาบอดขึ้นมา โดยตั้งชื่อว่า ‘เล่นเส้น’  เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ผมลังเลว่าจะใช้วิธีไหนในการกระจายสินค้าดี ระหว่างการเขียนงบประมาณขอทุนเพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์ไปแจกจ่ายให้กับคนพิการตามโรงเรียนต่างๆ กับการนำอุปกรณ์วาดรูปนี้มาขายให้กับคนพิการโดยตรง แต่เนื่องด้วยพื้นฐานความคิดของผมเป็นคนไม่เชื่อในการให้เปล่า เพราะเวลาที่เราได้ของฟรีเหล่านั้นมา เรามักไม่เห็นคุณค่าในของสิ่งนั้นเมื่อเทียบกับการจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน ดังนั้นผมจึงเลือกใช้รูปแบบหลัง และในไม่ช้าบริษัทก็ก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มแรกเดิมที การก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอเราตั้งใจว่าจะเป็นบริษัทที่ขายเครื่องเขียนทั่วไป เพียงแต่เป็นร้านขายเครื่องเขียนสำหรับคนพิการเท่านั้น

เมื่อหลายอย่างเริ่มชัดเจน ผมนำเครื่องเขียนต่างๆ ไปที่โรงเรียน ให้ผู้ปกครองและคุณครูทดลองใช้ปรากฏว่าทุกคนต่างชื่นชอบในเครื่องเขียนที่ผมทำ จนกระทั่งผมบอกราคาไปว่า ‘ชุดละ 90 บาท’ ทุกคนทำหน้าฉงนปนตกใจ ก่อนจะมีครูท่านหนึ่งตอบกลับมาว่า ‘คุณจะทำแบบนี้จริงหรือ ที่นี่โรงเรียนของคนพิการนะ คุณต้องให้ฟรี หรือไม่ก็ต้องไปหาสปอนเซอร์ ให้เขาซื้อและนำมาบริจาค’ ซึ่งในความเป็นจริง นี่คือเรื่องจริง

งานวิจัยของแกลลัพ (Gallup) ระบุว่า คนไทยบริจาคเงินช่วยเหลือหรือเป็นอาสาสมัครจำนวนมาก เป็นอันดับที่ 12 ของโลก  ผมมีตัวอย่างที่จะยกให้ดู

ปัจจุบันนี้ ถ้าคุณอยากไปทำบุญให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เช่น การเลี้ยงอาหารกลางวัน คุณจะต้องรออคิวนานถึง 3 เดือน ดังนั้น ไม่ใช่แค่มีเงินจะทำได้ แล้วทางโรงเรียนก็จะมีกิจกรรมให้เด็กร้องเพลงขอบคุณ ซึ่งเนื้อหาเพลงก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการย้ำเตือนตนเองว่า ตัวเด็กเป็นคนน่าสงสาร เป็นคนตาบอด ให้คนฟังได้มีความรู้สึกร่วม หลังจากนั้นก็จะมอบเงินให้แก่โรงเรียนอีก ซึ่งสิ่งที่ผมมองเห็นก็คือ เด็กเหล่านี้มีผู้มาเลี้ยงอาหารและต้องทำกิจวัตรที่ว่าทุกวัน อย่างน้อยวันละ 3 ครั้งต่อเนื่องกันหลายปี ผมได้แต่คิดว่า เด็กเหล่านี้เขาจะรู้สึกหรือมองว่าตัวเองมีค่าหรือไม่ เพราะต้องมีคนมาคอยดูแลตลอดจนกลายเป็น ‘คนเสพติดของฟรี’ ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้คนพิการไม่ใช่คนผิด หากแต่เป็นพวกเราทุกคนต่างหากที่ให้จนเกินขอบเขต จนเด็กเหล่านี้เสพติดกับการได้รับ

ในช่วงแรกของการเปิดบริษัทเพื่อขายสินค้าให้กับคนพิการ ผมยอมรับว่าผมแพ้ ยอดขายของผมมาจากบริษัทหรือกลุ่มทุนต่างๆ ที่ซื้ออุปกรณ์สำหรับคนพิการเพื่อนำไปแจก สำหรับตัวผม การขายแบบนี้เป็นเรื่องที่ง่าย แต่ผมกลับพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อความฝันของผมที่ต้องการจะ ‘หากิน’ กับคนพิการ

ต่อมาบริษัทกล่องดินสอจัดทำโครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’ เพราะการทำงานของผมต้องพบเจอกับคนพิการจำนวนมาก และเห็นได้ชัดว่า คนพิการส่วนมากสุขภาพไม่ค่อยดี ในกิจกรรมนี้จะมีอาสาสมัครที่เรียกว่า Guide Runner พาคนพิการไปวิ่งด้วยกัน แม้โครงการนี้จะไม่ใช่โครงการแรกที่ชวนคนพิการออกมาวิ่ง เพราะสมัยก่อนก็มีงานวิ่งสำหรับคนพิการ แต่ส่วนใหญ่เป็นการจ้างไปวิ่งเสียมากกว่า ขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ชวนคนพิการให้มาวิ่งในโครงการที่จัดขึ้นโดยมีเบี้ยเลี้ยงและไม่เสียใครใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยังมีรถรับส่ง เสื้อ และอาหารพร้อมบริการ ซึ่งแน่นอนว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนพิการ ผลสุดท้ายคือ เจ้าของงานได้หน้า ส่วนคนพิการรับเงินแล้วกลับบ้าน ทุกฝ่ายได้ แต่แน่นอนว่าสังคมเสีย เพราะการที่คนพิการเหล่านี้เสพติดกับการได้รับมากเกินไปนั่นเอง

เริ่มแรกที่จัดทำโครงการวิ่งด้วยกันขึ้น มีคนพิการหลายคนติดต่อเข้ามา บอกว่าสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ และถามต่อไปอีกว่า มีอะไรให้เขาบ้าง สิ่งที่ผมตอบกลับพวกเขาไปคือ คุณสามารถเข้าร่วมได้ฟรี แต่สิ่งที่คุณจะได้รับมีอยู่ 2 อย่าง คือสุขภาพและมิตรภาพ คุณสามารถเลือกได้ว่า จะมาหรือไม่มาตามใจต้องการ ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็ค่อนข้างดี โดยโครงการวิ่งด้วยกันจะเน้นหนักเรื่องความเท่าเทียม การที่คุณมาช่วยคนพิการวิ่งในครั้งนี้ไม่ใช่การทำบุญ เพียงแต่คุณมาพาเพื่อนอีกคนหนึ่งวิ่งไปด้วยก็เท่านั้น

หลังจากนั้น กิจกรรมก็จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยมีพื้นฐานความคิดว่า 'คนเท่ากัน’ ซึ่งคนพิการประเภทต่างๆ ก็มาเข้าร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น อาทิ คนตาบอด คนหูหนวก คนนั่งวีลแชร์ ฯลฯ โดยกิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปี ใน 6 จังหวัด มีคนพิการมาร่วมกิจกรรมแล้วกว่าพันคน แต่จะมีงานใหญ่ประจำปีเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งต่อปีเท่านั้น ซึ่งงานวิ่งด้วยกันประจำปี จะเป็นงานที่เก็บเงินคนพิการที่มาเข้าร่วม โดยจะเริ่มเก็บจาก Guide Runner คนละ 300 บาท ส่วนคนพิการจะจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ แต่ไม่เกิน 300 บาท และปรากฏว่า คนพิการจำนวนมากยินดีที่จะจ่ายเต็มราคา เพราะมองว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องจ่ายน้อยกว่าคนอื่นๆ

งานวิ่งด้วยกันจึงเป็นงานที่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนเหมือนกัน มีความเป็นคนเท่ากัน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี นี่จึงเป็นสิ่งที่บอกกับผมว่า ทำไมการหากินกับคนพิการถึงดี

ผมไม่ใช่คนเดียวที่หากินกับคนพิการ แนวคิดเรื่องการหากินกับคนพิการและคนด้อยโอกาสในต่างประเทศมีมานานแล้ว เช่น บางประเทศมีคนทำตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับคนยากจน กางเกงสำหรับคนนั่งรถเข็น บริการทางการแพทย์สำหรับคนยากจน บริการทางการเงินสำหรับคนยากจน ซึ่งการหากินกับคนเหล่านี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น (อย่างมีศักดิ์ศรี) เพราะการจะหากินกับใครสักคนเราต้องเข้าใจปัญหาที่เขามี เพื่อจัดทำสินค้าบริการที่ตอบสนองหรือแก้ปัญหาของเขาได้

ในวันนี้จึงอยากชวนทุกคน มาร่วมหากินกับคนพิการด้วยกัน