Skip to main content

บางทีศาสนาก็ไม่ได้ทำให้คนเรารู้สึกดีกับชีวิตตัวเองเสมอไป ฟังพระเทศนาสั่งสอนอาจยิ่งรู้สึกว่าชีวิตที่มีอยู่มันไม่มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวมันเองเอาเสียเลย แต่เราก็ยังเดินเข้าหาศาสนาเพียงเพื่อให้แน่ใจว่าชาติหน้าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ สมบูรณ์ยิ่งกว่านี้


ศาสนาแบบนี้เลยไม่ได้ช่วยทำให้ชาตินี้น่าอยู่ขึ้นเท่าไหร่ เปลือกนอกอาจดูดีมีเมตตา ทว่าลึกลงไปยังเต็มไปด้วยความไม่รู้สึกรู้สา เพิกเฉยด้วยความไม่เข้าใจ หรือกระทั่งการเหยียด... คนจำนวนมากเป็นสมาชิกทางศาสนาเพียงเพื่อรักษาอำนาจความดี ความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่ตัวเองไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ศาสนาไม่ได้เข้าใจชีวิตพวกเขา แต่ตัดสินชีวิตพวกเขา ความดีอยู่ที่ตัวศาสนา หาได้ดำรงอยู่แล้วเป็นพื้นฐานในตัวของพวกเขาเองไม่  

 

บ่อยครั้งที่ผมถูกถามว่า ศาสนาพุทธมีมุมมองต่อคนพิการและความพิการอย่างไร?

 

...กรรม? 
...ปล่อยวาง?
...มรรคแปด?
...อริยสัจสี่?

 

บอกตามตรงครับ ผมไม่คิดว่าคำสอนทางศาสนาเหล่านี้จะช่วยให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือจะช่วยให้สังคมเข้าใจชีวิตของคนพิการมากขึ้น เผลอๆ บางทีอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการได้ยินเสียงของพวกเขาด้วยซ้ำ

หากจะมีคำสอนในพุทธศาสนาที่จะช่วยเปิดมุมมองต่อคนพิการ สำหรับผม คำสอนนั้นน่าจะเป็นคำสอนเรื่อง  "โพธิจิต"

 

โพธิจิต แปลว่า หัวใจอันตื่นรู้ หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์อันงดงามและเต็มเปี่ยมที่มีอยู่ในคนทุกคนอยู่แล้วโดยพื้นฐาน

 

ต่างจากการนำเสนอเรื่องกรรม (แบบผิดๆ) ที่เน้นไปในเรื่องการยอมรับผลของการกระทำ โดยเฉพาะกรรมในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน จนอาจมองว่า "ความพิการ" เป็นผลกรรม และชีวิตคนพิการมีความหมายเพียงแค่ช่วงเวลาแห่งการรับกรรม หรือเป็นโอกาสในการสร้างบุญกุศลเพื่อกรรมดีจะได้ส่งผลให้มีชีวิตที่ "ดีขึ้น" ในชาติหน้า

 

คำสอนโพธิจิตมองว่า ทุกชีวิตต่างมีศักยภาพแห่งโพธิ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเกิดมาในสภาพเช่นไร หรือตกอยู่ในสถานการณ์ความทุกข์หนักหนาแค่ไหน เราสามารถตื่นอยู่ตรงนั้นได้ด้วยความดีที่มีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน การเกิดมาเป็นมนุษย์ของคนทุกคนนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามและควรค่าแก่การเคารพ

 

การเกิดมามีร่างกายพิการไม่ได้ทำให้หัวใจมนุษย์อันงดงามถูกลดทอนพลังลงไปแต่อย่างใดครับ ตรงกันข้าม หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ของคนพิการสามารถถูกหล่อเลี้ยงให้เติบโตงอกงามได้เหมือนคนทั่วไป ในแง่นี้ คุณค่าแห่งพุทธธรรมจึงเปิดไปพ้นเปลือกนอกของ "ความไม่สมบูรณ์" ที่เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งจากการให้ค่าอย่างผิวเผินเท่านั้น

ในความไม่สมบูรณ์จึงมีความสมบูรณ์และเต็มเปี่ยมดำรงอยู่ เมื่อความไม่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องถูกปฏิเสธ เก็บงำ จำกัด (หรือกำจัด) ทว่าสามารถถูกยอมรับให้กลายเป็น “ส่วนหนึ่งที่สำคัญ” ของภาพทั้งหมดที่สมบูรณ์ได้ สิ่งที่ดูภายนอกว่าไม่สมบูรณ์ก็อาจกลายเป็นความสมบูรณ์ในตัวมันเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ด้วยมุมมองแบบโพธิจิต เราตระหนักว่าคนพิการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อีกทั้งความพิการก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในความสมบูรณ์ของมนุษย์ด้วย โพธิจิตสื่อสารถึงหัวใจที่สามารถเผชิญและยอมรับทุกสภาวะของมนุษย์ตามที่เป็น โดยไม่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่น เพราะทุกแง่มุมของความเป็นมนุษย์มีความดีงามและสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้วโดยพื้นฐาน

 

ธรรมชาติของโพธิจิต คือ พื้นที่ว่าง อันสะท้อนถึงพื้นที่ของใจที่เปิดกว้าง กระนั้นคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยครับ หากมุมมองแบบโพธิจิตจะส่งผลต่อการออกแบบพื้นที่ทางสังคมหรือพื้นที่สาธารณะที่ตื่นรู้และเปิดกว้างต่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมที่หลากหลายด้วย