Skip to main content

เอ็นจีโอด้านคนพิการเม็กซิโกเผย เด็กพิการในบ้านเด็กกำพร้าถูกละเลย เพิกเฉย มีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ หนำซ้ำมองข้ามเรื่องสิทธิ หลายครั้งพบปัญหาการกักขังหน่วงเหนี่ยว ส่งผลให้พัฒนาการร่างกาย-จิตใจช้า ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้

4 ต.ค. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานสถานการณ์เด็กพิการในบ้านเด็กกำพร้าโดยองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องสิทธิคนพิการหรือดีอาร์ไอ (Disability Rights International: DRI) ได้ศึกษากลุ่มสถานสงเคราะห์ และบ้านเด็กกำพร้าในแถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ยูเครนและเซอร์เบีย พบว่ากลุ่มเด็กพิการ ยังคงเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามเรื่องสิทธิและถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

รายงานได้เปิดเผยถึงสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเด็กกำพร้าที่ชื่อ ซาน ลูอิส กอนซากา ในเม็กซิโก ซิตี้ ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน พวกเขามีอายุตั้งแต่ 9-40 ปี ส่วนมากถูกนำมาทิ้งไว้โดยครอบครัวและมีเพียงครึ่งหนึ่งที่ยังสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ โดยตราบใดที่ครอบครัวยังมีเงินจ่าย 1,290- 8,235 บาทต่อเดือน (มากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของครอบครัว) เด็กๆ ก็สามารถอาศัยอยู่ที่นี่ได้นานเท่านาน

ที่แห่งนี้มีผู้อาศัยอายุมากหลายคนที่หน้าตาเหมือนวัยแรกรุ่นเพราะร่างกายของพวกเขาไม่เจริญเติบโต มีเด็กพิการด้วยโรคซีรีบรัล เพาร์ซี่หรือซีพี (Cerebral Pulsy: CP) จำนวนกว่าสิบคนนอนเรียงกันอยู่บนพื้น ที่มีเพียงที่่นอนบางๆ ปูไว้และถึงแม้จะมีกลิ่นน้ำยาทำความสะอาด แต่กลิ่นปัสสาวะก็ยังคงวนเวียนมาแตะจมูก

ผู้เขียนกล่าวว่า เมื่ออยู่ที่นี่ เวลาเหมือนถูกหยุดนิ่ง กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีเพียงการเรียนการสอน การแพทย์ และการกายภาพที่ล้าหลัง แม้แต่แบบแผนในการดูแลผู้ป่วยก็ยังเป็นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากแพทย์คนเดียว ไม่มีภาวะของการใช้ชีวิตและไม่มีการให้ความบันเทิง


ลีโอนาโดซึ่งถูกผูกวีลแชร์ติดกับเตียง
(ที่มาภาพ 
Disability Rights International)

เหตุการณ์และภาพถ่ายต่างๆ เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ถูกเก็บและบันทึกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยองค์กรเอ็นจีโอ ดีอาร์ไอ แสดงภาพของ ลีโอนาโด เด็กชายออทิสติกวัย 10 ขวบ พร้อมวีลแชร์ของเขาที่ถูกผูกติดอยู่กับเตียง แม้ว่าลีโอนาโดจะสามารถเดินได้แต่เขากลับไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปที่ไหนได้เพราะถูกผูกติดกับวีลแชร์ เจ้าหน้าที่เองก็ต่างกล่าวว่า การทำเช่นนี้ไม่ถือเป็นการลงโทษเขาแต่เป็นการทำให้เขาปลอดภัยและหยุดไม่ให้ลีโอนาโดดิ้นลงจากวีลแชร์ แม้ลีโอนาโดจะมีครอบครัว แต่ครอบครัวของเขาอยู่ห่างออกไป 6 ชั่วโมงจากเม็กซิโก และไม่มีเงินมากพอที่จะดูแลเขา

อีกเหตุการณ์หนึ่งแสดงภาพของเด็กชายวัยรุ่นตอนต้นที่เป็นโรคซีรีบรัล เพาร์ซี่ นอนในที่นอนแคบๆ และถูกตีปิดด้วยไม้ด้านหนึ่ง ไม้เหล่านั้นมีรอยจากการกระแทกของหัวและฟันของเด็กชาย และเมื่อเด็กชายอ้าปากก็พบว่า ฟันของเขาหลายซี่นั้นหายไป

ปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้นมีอยู่ทั่วโลก

กว่า 8 ล้านคนของเด็กทั่วโลกอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า กว่าร้อยละ 90 ยังมีผู้ปกครองที่มีชีวิตอยู่อย่างน้อย 1 คน เด็กพิการกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้บ้านเด็กกำพร้าถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่ดูแลชีวิต แต่เด็กวัยรุ่นหลายคนที่เติบโตในสถานที่เหล่านี้กลับมีความรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น


ภาพหน้าจอจากวิดีโอ DRI Intro--Disability Rights are Human Rights

13 ปีที่ผ่านมา ดีอาร์ไอทำงานแคมเปญทั่วโลกเพื่อลดจำนวนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะในเคสของคนพิการ ผลการวิจัยที่ผ่านมา ดีอาร์ไอพบทั้งความรุนแรงที่มาจากการดำเนินการโดยรัฐ ทั้งจากผู้บริจาคสนับสนุน ซึ่งรวมทั้งในเคสของบ้านเด็กกำพร้าและแผนกจิตเวช โดยจากการเก็บข้อมูลระหว่างวิจัยพบว่า นอกจากสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีการสร้างพันธนาการต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ความพิการและความแปลกแยกออกจากสังคม รวมทั้งการกักขังหน่วงเหนี่ยวคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ

ในปารากวัย นักวิจัยพบว่า เด็กที่มีภาวะออทิสติกถูกขังกรงอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ เด็กเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตข้างนอกกรงเพียงไม่กี่ชั่วโมงทุกสองถึงสามวัน เจ้าหน้าที่ของดีอาร์ไอกล่าวว่า กรงนั้นเต็มไปด้วยสิ่งของกระจัดกระจาย ทั้งอุจจาระ ขยะ และเศษแก้วน้ำที่แตก นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการบังคับทำหมันของคนพิการในเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกลัวปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถาบัน ขณะที่ในยูเครน ทีมงานพบว่า เด็กจะถูกแบ่งประเภทตามความรุนแรงของความพิการ เด็กที่อยู่ในขั้น 3 และ 4 ของโรคจะถือว่าไร้ความสามารถ และถูกคาดว่าต้องอยู่ที่สถาบันเหล่านี้ไปตลอดชีวิต

ทุกอย่างถูกจัดการให้ ‘สะอาด’

ถึงแม้สถาบันส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์ที่ดี เครื่องมือที่สะอาดสะอ้าน และครอบครัวจำนวนมากก็เชื่อว่าสถาบันเหล่านี้จะทำสิ่งที่ถูกต้องต่อลูกของเขา อย่างไรก็ดี ลอว์รี่ เอิร์น วัย 62 ปี ประธานดีอาร์ไอกล่าวว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าครอบครัว เด็กๆ ต้องการคนดูแลที่เอาใจใส่ แม้แต่สถานกำพร้าที่ดีก็ไม่สามารถทดแทนได้ เด็กที่นั่นมีพัฒนาการทางด้านจิตใจและร่างกายที่ล่าช้า

"แม้แต่กับสถาบันที่ดีที่สุด เด็กๆ ก็ยังไม่ได้สิ่งที่พวกเขาควรจะได้" เฮเลน เด็นท์ นักวิชาการจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชอร์ กล่าว พร้อมเสริมว่า โดยมากเจ้าหน้าที่จะสนใจและเอาใจใส่เด็กที่ไม่มีปัญหาเสียมากกว่า ดังเช่นเด็กผู้ชายที่้กระแทกฟันตัวเองกับผนัง ซึ่งเต็มไปเปี่ยมไปด้วยภาวะเรียกร้องสนใจ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากความเครียด หรือภาวะพฤติกรรมผิดปกติ

อีริค โรเซนธอล วัย 52 ปี ผู้ก่อตั้งดีอาร์ไอกล่าวถึงเหตุผลที่เขาตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นว่า เขาเคยเห็นการดูแลคนซึ่งไม่เหมือนการดูแลคน มีการจับทั้งเด็กและผู้ใหญ่พิการนอนเรียงกันแบบโป๊เปลือยเพื่ออาบน้ำหรือป้อนอาหารในแบบที่พวกเขาไม่มีทางได้เลือก ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับการเลี้ยงสัตว์เข้าไปทุกที

โรเซนธอล มีความสนใจด้านสุขภาพจิตและสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะหันมาศึกษาด้านกฎหมายอย่างจริงจัง เขาเป็นนักเคลื่อนไหวและรู้ว่าสิทธิคนพิการเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมาตลอด แม้แต่ในงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากลก็ตาม องค์กรของเขาทำหน้าที่วิจัยและเปิดเผยข้อมูลเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้เดินทางเพื่อเยี่ยมชมกว่า 100 สถาบันในกว่า 30 ประเทศและรวบรวมทีมอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ได้จำนวนหนึ่ง

แม้ทีมงานของเขาจะมีขนาดเล็ก แต่กลับใช้เวลาไม่นานในการขยายฐานออกไปอย่างรวดเร็ว ตอนนี้พวกเขามีสำนักงานที่เม็กซิโก กัวเตมาลา ยูเครนและเซอร์เบีย และทำงานวิจัยหลักๆ อยู่ 18 ชิ้น เช่น การเผยแพร่ข้อมูลการทรมานที่ทำร่วมกับนิตยสารนิวยอร์กไทส์ ซึ่งเรียกร้องให้คนพิการมีสิทธิเสมอภาคเท่ากับคนไม่พิการ

บทบาทของดีอาร์ไอในเซอร์เบีย คือการทำให้เกิดกฎหมายที่ว่า เด็กที่อายุต่ำกว่าสามปี จะต้องไม่เป็นเด็กที่อยู่ภายใต้สถาบันใด แม้ว่าเซอร์เบียจะมีเด็กที่อยู่ในสถานที่เหล่านี้ค่อนข้างน้อย แต่ในจำนวนนั้นก็ยังคงเป็นเด็กพิการค่อนข้างสูงนอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในเรื่องการหยุดไม่ให้มีเด็กเข้าใหม่ในอนาคต


ภาพหน้าจอจากวิดีโอ DRI Intro--Disability Rights are Human Rights

“พวกเรารายงานสิ่งที่พวกเรารู้ว่าเป็นอันตรายต่อเด็ก ครั้งแรกที่เราเริ่มเดินทางเยี่ยมสถาบันต่างๆ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เด็กหลายคนถูกทิ้งให้ตายอย่างเจ็บปวด เด็กที่สื่อสารไม่ได้ก็ถูกทิ้งให้อยู่ในเปลหรือคอกเป็นปีๆ โดยไร้ความรักและการสัมผัสพวกเราจึงคิดว่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง

“เราสามารถเปลี่ยนมันได้ มันไม่ใช่ปัญหาที่ซับซ้อนอะไร มันคือการสนับสนุนให้ครอบครัวมีรายได้ ไม่ใช่การสนับสนุนให้บ้านเด็กกำพร้ามีรายได้” เอิร์นกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอื่นๆ อย่าง Lumos ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลโดยเจ.เค. โรลลิ่ง ได้ออกแคมเปญการลดการพึ่งพิงสถาบันต่างๆ เหล่านี้ โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพิงเป็นการสนับสนุนให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน สนับสนุนชุมชนและพัฒนางานด้านเครือข่าย โดยองค์กรเชื่อว่าในปี 2050 เด็กที่ถูกกักขังอยู่ในสถาบันเหล่านี้จะหมดไป

เมื่อลับสายตา สิ่งร้ายๆ ก็เกิดขึ้นกับเด็ก

สำหรับเอิร์นและทีมงาน วันหยุดพักผ่อนเป็นสิ่งที่พวกเขาแทบไม่เคยได้รับ เธอต้องการให้ตัวเองสามารถติดต่อได้และทำงานอย่างต่อเนื่อง

“ในตอนเด็กๆ ฉันเคยถูกทำร้าย ในตอนนั้นฉันหวังว่าจะมีใครสักคนที่เข้ามาช่วย อยากให้มีใครสักคนเข้ามาพูดคุยกับฉัน ในวันที่ฉันไม่สามารถพูดคุยกับใครได้” เธอกล่าว

เธอเชื่อว่า เด็กๆ ที่ถูกทิ้งไว้ โดยเฉพาะเด็กพิการ มักเป็นกกลุ่มเด็กที่ถูกหลงลืม ไม่มีใครสนใจพวกเขา ไม่ว่าสาเหตุนั้นจะเกิดจากความขัดแย้งของครอบครัว หรือกำพร้าพ่อแม่ก็ตาม เธอเล่าว่า หนึ่งในเคสที่ยากที่สุด อยู่ในย่านเมืองเก่าทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย เด็กที่มีภาวะหัวโต หรือโรค hydrocephalus ที่ส่งผลให้เกิดของเหลวในสมอง ถูกทิ้งโดยไร้การรักษา ซึ่งนั้นก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทรมานอย่างมาก

“เด็กทารกหัวโตอายุ 6 เดือนถูกทิ้งให้นอนร้องครวญคราง ฉันจมอยู่กับความเศร้าโศกเพราะรู้ว่าโรคดังกล่าวนั้นสามารถรักษาให้หายได้ และเด็กคนนี้ก็สามารถเติบโตใช้ชีวิตอย่างปกติเฉกเช่นคนอื่นได้เช่นกัน” เธอกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Out of sight: the orphanages where disabled children are abandoned