Skip to main content

04.00 น.

เราตื่นจากภวังค์เพราะเสียงเรียกของชายบนวีลแชร์ ในเวลาที่ใครหลายคนยังคงหลับ หรือบางคนก็ตื่นออกไปเป็นแรงงานในยามเช้า อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ทำงานอยู่ที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เขาเป็นคนที่จะพาเราไปหาหมอกับเพื่อนคนพิการที่เป็นแผลกดทับรุนแรง

หากใครรู้จักแผลกดทับอยู่แล้วก็คงทราบดีถึงความร้ายกาจของสิ่งที่เกิดขึ้น แผลกดทับร้ายพอๆ กับชื่อของมัน เริ่มต้นจากแผลหรือรอยขีดข่วนเล็กๆ เมื่อถูกกดหรือนอนทับนานๆ เพราะขยับตัวไม่ได้ แผลก็เน่าและขยายตัวใหญ่ขึ้น กัดกินเนื้อเข้าไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าบางรายกัดกินได้ลึกจนเห็นกระดูก คนพิการหลายคนรับรู้ถึงความเจ็บปวดของแผลแม้ร่างกายส่วนนั้นแทบจะไม่รู้สึก นอกจากแผลจะกัดกินเนื้อ แผลกดทับยังกัดจิตใจผ่านการดูแลที่มากขึ้น และชีวิตที่หายไปให้กับวังวนคนพิการติดเตียง ที่สร้างความเจ็บปวดยิ่ง

ที่เราทั้งสองคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นเพราะการเตรียมตัวเพื่อพาคนพิการคนหนึ่งไปหาหมอนั้นต้องใช้เวลามากพอสมควรในการเตรียมตัว เตรียมรถสำหรับเคลื่อนย้าย เตรียมทีมงานสำหรับการซัพพอร์ต อีกทั้งบางครั้งยังต้องประสานงานเรื่องสิทธิการรักษา เมื่อทุกอย่างพอจะเข้าที่เข้าทางแล้ว อรรถพลก็เริ่มเล่าถึงความร้ายกาจของแผลกดทับให้เราฟัง 

“แผลกดทับกับคนพิการด้านการเคลื่อนไหว หรืออัมพฤกอัมพาต โดยเฉพาะคนที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง ซึ่งร่างกายไม่มีความรู้สึกนั้นยิ่งทวีความรุนแรง ถ้านั่งหรือนอนนานๆ ก็ทำให้เกิดบาดแผล แผลจากปลายเข็มเล็กๆ สามารถลุกลามบานปลายกลายเป็นแผลใหญ่จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตได้

“สำหรับคนที่เพิ่งพิการใหม่ๆ ไม่มีความรู้หรอกว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกัน หรือเมื่อเป็นแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร มันยากไปหมดเมื่อคุณเริ่มมีความพิการ หรือแม้แต่คนพิการที่เคยเป็นและหายแล้วก็สามารถกลับไปเป็นได้ หรือบางทีการนอนนานๆ ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดแผล แต่การย้ายตัวบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน 

“แผลกดทับส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนที่เป็น รวมถึงครอบครัวและคนรอบข้าง แผลทำให้วิถีชีวิตต้องวนเวียนอยู่แต่ในบ้าน อยู่บนที่นอน พ่วงมากับความต้องการการช่วยเหลือที่มากขึ้นจากคนในครอบครัว เป็นการเพิ่มภาระให้กับคนดูแลมากขึ้น สังคมและคนเหล่านี้สูญเสียโอกาสในการออกไปทำงานและใช้ชีวิต เพราะแผลกดทับใช้ระยะดูแลหรือฟื้นฟูนานพอสมควร ระหว่างทางที่เกิดขึ้นคนที่เกี่ยวข้องอาจจะเกิดความเหนื่อยล้าได้ ถ้าเรายังไม่เริ่มแก้ปัญหาสังคมก็จะเสียโอกาสต่อไปเรื่อยๆ 

“แผลกดทับส่งผลต่อจิตใจตัวเองและครอบครัวด้วย เปลืองทั้งทรัพยากรที่ต้องดูแลทำแผล พ่วงความเหนื่อยล้าของผู้ดูแลที่บางคนเลิกงานมาก็ต้องกลับมาดูแลจัดการกับแผลกดทับต่อ เพราะคนพิการเองไม่สามารถจัดการตัวเองได้ทั้งหมด”

05.00 น.

“ทำไมเราต้องขับรถไกลขนาดนี้ เพื่อไปโรงพยาบาล”

อรรถพลตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น นี่ไม่ใช่หนแรกของการเดินทางไกลเพื่อไปหาหมอ หลายครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องการรักษาแผลกดทับ ทั้งอุปกรณ์ ทั้งการใส่ใจดูแลที่ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก อรรถพลสะท้อนว่าคนพิการในพื้นที่หลายคนเข็ดขยาดกับการรักษาในพื้นที่ บางคนสะท้อนว่าขอตายดีกว่าถ้าจะต้องรักษาที่เดิม ความทรมานกายที่แถมด้วยความทรมานใจก็ทำให้คนพิการไม่อยากรักษา มันหนักหนามากเกินไปสำหรับพวกเขา นี่เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นสำหรับคนพิการหลายคน แม้สิทธิจะรักษาของคนพิการจะฟรี แต่ถ้าไม่มีรถ และอยู่ห่างโรงพยาบาล สิ่งนี้ก็เป็นปัญหา 

รถฝ่าความมืดมุ่งหน้าไปยังอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขับลึกเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งก่อนที่จะไปจอดหน้าบ้านชั้นเดียว หญิงสาวผู้เป็นแม่ของคนพิการเปิดประตูต้อนรับ ก่อนจะเรียกคนในบ้านให้ออกมาช่วย “นน” ผู้ช่วยคนพิการที่มากับเราเอาเบาะมาจัดที่ทางในรถ ก่อนทั้งหมดจะเดินเข้าไปในห้อง คนพิการในผ้าห่อสีแดงถูกหิ้วลอยออกมาจากห้อง ก่อนยกขึ้นไปยังรถตู้ อรรถพลกำชับคนยกให้ระวังร่างกายโดนพื้นอันจะซ้ำเติมบาดแผลยิ่งกว่าเดิม การทำงานเป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด 

“บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นบุญกุศล แต่พี่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องมนุษยธรรม”

อรรถพลสะท้อนให้เราฟังตอนที่อยู่บนรถ เอาเข้าจริงแล้วงานไอแอล (independent living) กลับเป็นที่รู้จักในสังคมไทยน้อย หลังเกิดความพิการหลายคนต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สิ้นหวัง มองว่าชีวิตตัวเองไปต่อไม่ได้ บทบาทงานอย่างไอแอลพุทธมณทลและไอแอลอีกหลายที่ คือการเข้าไปเป็นเพื่อนคู่คิด ชวนคนพิการออกไปใช้ชีวิตในแบบของตนเอง รวมถึงช่วยแนะนำเรื่องสิทธิและบริการที่คนพิการอาจไม่รู้ เพื่อคืนศักดิ์และศรีสู่คนพิการอย่างที่คนจะเป็น อรรถพลย้ำกับเราว่า งานของเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอบรมสั่งสอนคนพิการว่าต้องทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไร แต่เป็นการเข้าไปเป็นเพื่อนคู่คิดชวนคุย ช่วยคนพิการหาทางออกในแบบของตน โดยที่ไม่คิดแทน ครอบงำ ทำให้ เหมือนกันการตัดสินใจมาหาหมอในวันนี้ที่เป็นเรื่องของการประสานส่งต่อ อันเป็นหนึ่งในหน้างานที่ภาครัฐยังมองไม่เห็น 

06.00 น.

เราขับรถหลายสิบกิโลจากจังหวัดนครปฐมมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครฯ ในเช้าวันทำงานที่จราจรเริ่มติดขัดแม้พระอาทิตย์จะยังขึ้นไม่เต็มดวง เรามากันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านใจกลางเมือง เพราะได้รับคำแนะนำว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผลกดทับ เมื่อมาถึงเราก็ใช้เวลาสักพักใหญ่ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังเตียงของโรงพยาบาล และอรรถพลก็ต้องใช้เวลาในการหาที่จอดในโรงพยาบาลก่อนจะย้ายตัวจากรถตู้มาสู่วีลแชร์ของตัวเอง แล้วกลับมาหาเรา

การมาโรงพยาบาลครั้งแรกเป็นเรื่องที่ทุกลักทุเลพอสมควรไม่ว่าจะสำหรับใคร ทั้งการลงทะเบียนประวัติผู้ป่วย การแจ้งสิทธิการรักษา แน่นอนว่าในวันนี้เรามาด้วยการรักษาด้วยสิทธิของคนพิการหรือ ท.74 คนพิการสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่พอยื่นสิทธิไปกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เขาก็แจ้งกลับมาว่าใช้สิทธิของคนพิการไม่ได้ เนื่องจากมีประกันสังคม จะต้องกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิก่อน แล้วให้โรงพยาบาลนั้นแจ้งย้ายถึงจะมาได้ แต่พวกเราในฐานะที่มาแล้ว และอยากจะรักษากับโรงพยาบาลที่นี่ จึงจำยอมที่จะต้องจ่ายค่ารักษาเองกันไปก่อน 

อรรถพลสะท้อนให้เราฟังถึงปัญหาการใช้สิทธิของคนพิการว่า

“ในกรณีที่คนพิการทำงานอยู่ หลายคนมีสิทธิประกันสังคม ระบบก็ให้ใช้ประกันสังคมทั้งที่สิทธิคนพิการครอบคลุมกว่า เนื่องจากเลือกรักษาในโรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ คำถามคือ แล้วทำไมคนพิการจึงจะไม่อยากรักษาในพื้นที่ของตัวเอง 

“เราต้องย้อนกลับไปดูคุณภาพของบริการโรงพยาบาล รวมถึงการเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน หลายกรณีในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม เพื่อนที่ไปใช้สิทธิก็สะท้อนเสียงคล้ายๆ กันว่า ถูกปฏิบัติแบบไม่คำนึงถึงหัวจิตหัวใจหรือความเป็นมนุษย์ บางทีก็ปล่อยให้อยู่ไปวันๆ โดยไม่ได้รับการเอาใจใส่ เราเข้าใจเงื่อนไขของโรงพยาบาลที่อาจมีความไม่พร้อม  แต่นั่นจึงทำให้คนมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า 

“กรณีที่สิทธิทับซ้อนกันแบบนี้ โดยหลักเขาจะให้ใช้บริการจากประกันสังคมก่อน หากจำไม่ผิด คนพิการสามารถเลือกได้ว่าอยากจะใช้สิทธิไหน แต่ต้องไปทำเรื่องแจ้ง หลังจากนี้เราก็ต้องไปดูต่อว่ามีวิธีแจ้งเปลี่ยนสิทธิอย่างไร คนพิการสามารถทำได้สะดวกมากแค่ไหน เพราะสิทธิประกันสังคมมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และต้องสำรองเงินจ่ายก่อน ต่างจากสิทธิคนพิการที่สามารถใช้ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้และไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญสำหรับคนพิการหลายคน เช่น ครอบครัวคนพิการหลายคนที่ไม่ค่อยมีเงิน คนพิการที่ไม่มีงานทำหรืองานที่ทำได้ค่าตอบแทนน้อย การไม่ต้องจ่ายเองก็ทำให้เบาใจไปได้มาก”

เราขึ้นลิฟต์ตรงมายังแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาล ผู้คนจำนวนมากเริ่มมารอกันที่หน้าแผนก เรากรอกเอกสารและวางทิ้งไว้ในตระกร้า เป็นเรื่องปกติของโรงพยาบาลรัฐที่คนต้องมารอเอาคิวตั้งแต่เช้า บางครั้งก็เช้ามืด หากเงินมากพอ หลายคนคงเลือกรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่ต้องรอนาน 

09.30 น. 

โรงพยาบาลเพิ่งเริ่มรันคิวอย่างเป็นทางการ โรงพยาบาลแห่งนี้ถือได้ว่าทันสมัยพอสมควร สามารถสแกนบัตรคิวเพื่อดูเวลาได้ว่าเราจะได้เจอหมอประมาณกี่โมง ซึ่งของเราเป็นช่วง 11 โมง อรรถพลเล่าว่า วันนี้หวังให้หมอประเมินว่า ควรนอนโรงพยาบาลต่อและได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเพราะแผลกดทับมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการทำความสะอาดแผล อาหารการกิน การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การปัสสาวะ อุจจาระ 

อรรพลสะท้อนว่า นอกจากความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ต้องอาศัยโรงพยาบาลในการให้ความช่วยเหลือแล้ว ปัจจัยทางสังคมก็มีผลเช่นเดียวกัน หลายครอบครัวคนในบ้านก็ออกไปทำงาน ไม่มีเวลาช่วยทำความสะอาดแผลกดทับ ส่งผลให้แผลไม่หายและอาจติดเชื้อซ้ำได้ 

หลายคนไม่มีปัจจัยเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์การดูแลดีๆ แพมเพิสสำหรับผู้ใหญ่มีราคาสูงและใช้ในปริมาณมาก เบาะลมที่จะช่วยลดอาการของแผลกดทับก็มีราคาเริ่มต้นหลายพันจนไปถึงหลายหมื่น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ จึงลงเอยที่คนพิการถูกปล่อยให้เป็นแผลกดทับลุกลามบานปลาย 

“การเป็นแผลกดทับมีรายจ่ายค่อนข้างมาก ค่าหมอและค่าอุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีที่นอนลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ ค่าทำแผลรายวัน รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อเหมารถพาคนพิการออกไปโรงพยาบาล”

11.00 น.

คนพิการถูกเรียกชื่อไปยังห้องตรวจ เขาถูกพาขึ้นเตียงและทำความสะอาดบริเวณแผล หมอใช้มีดปาดแผลที่เน่าออกให้กลายเป็นแผลสด ทำความสะอาดบริเวณโดนรอบ และผู้ช่วยก็สอนญาติคนพิการในการทำความสะอาดแผลที่ถูกต้อง 

หลังจากที่หมอได้คุยกับอรรถพล หมอมีความเห็นว่าไม่ได้ถึงขั้นจะต้องนอนโรงพยาบาล ให้กลับบ้านไปรักษาทำความสะอาดแผลให้ดี และควรใช้บริการจากโรงพยาบาลใกล้บ้านมากกว่าเนื่องจากใกล้และสามารถรักษาได้ทันท่วงที ถึงแม้อรรถพลจะทักท้วงไปแล้วว่าคนพิการคนนี้เคยไปใช้บริจากจากโรงพยาบาลแถวบ้านแล้ว และเจอการรักษาที่ไม่ใส่ใจจนเกิดเป็นแผลกดทับเพิ่มขึ้น แต่หมอก็ยังมีความเห็นเหมือนเดิม และโรงพยาบาลก็ยังมีเคสจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ มากกว่า จึงอาจไม่เหมาะในการให้มาดูแลรักษาที่นี่ 

ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการจัดการทำความสะอาดแผลกดทับ พยาบาลก็เรียกอรรถพลไปคุยเรื่องค่ารักษา เบื้องต้นค่าทำความสะอาดเป็นเงินหลายพันบาท ขนาดที่ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลเองยังตกใจที่ว่า ทำไมค่าทำแผลถึงได้แพงขนาดนี้ แต่เนื่องจากใช้สิทธิคนพิการไม่ได้ ทางศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล จึงต้องใช้เงินจากสมาคมฯ ต้นสังกัดออกให้ไปก่อน ทั้งนี้ยังไม่ร่วมค่าอุปกรณ์การดูแลอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดแผล และเตียงลม 

อรรพลเล่าว่า งานหลังจากนี้คงเป็นเรื่องของการดูแลรักษาต่อว่าจะทำอย่างไรให้อาการติดเชื้อทุเลาลง ทั้งเรื่องของการทำความสะอาดแผลที่ควรทำบ่อยๆ ประจำสม่ำเสมอ ศูนย์จะลองติดต่อไปยังศูนย์บริการสุขภาพชุมชนเพื่อประสานหาหน่วยบริการเคลื่อนที่มาดูแลเรื่องการทำความสะอาดแผล ซึ่งจะดีกว่าที่บ้านทำเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดูแล ปรับสภาพที่บ้านให้ลดเรื่องความเสี่งที่จะติดเชื้อ เช่น ใช้มุ้งเพื่อป้องกันแมลงที่อาจมาทำให้แผลติดเชื้อ การดูแลเรื่องการปัสสาวะให้สะอาดก็มีความจำเป็นด้วย 

“ความใส่ใจของรัฐต่อเรื่องแผลกดทับ คิดว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ปัญหามีตั้งแต่ต้นทาง คือคนที่เริ่มมีความพิการใหม่ๆ ฉะนั้นกระบวนการดูแลควรจะใส่ใจตั้งแต่ต้น เช่น มีเบาะลมซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับที่เข้าถึงได้ และควรมีคนที่ให้ความรู้และข้อมูลกับญาติ หรือถ้าเขาไม่มีญาติ ทางโรงพยาบาลก็ควรให้ความใส่ใจต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษเมื่อนอนอยู่โรงพยาบาล เช่น การพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง 

“คนพิการหลายคนยังอยู่ภายใต้สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เขานึกไม่ถึงว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไร  และไม่มีใจมากพอที่จะไปจัดการเรื่องเหล่านั้น ฉะนั้นระบบควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะถ้าปล่อยให้แผลเล็กๆ ไม่ได้รับการดูแลจัดการที่ดี ก็ทำให้แผลใหญ่ขึ้น จนติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจเสียชีวิตก็มี 

“อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับรัฐไทยก็ไม่ได้ให้ความสนใจ หลายอย่างยังมีราคาแพงและเบิกไม่ได้ ทั้งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการดูแลตั้งแต่แรก รวมถึงกระบวนการส่งต่ออุปกรณ์ที่ควรเอากลับไปใช้ประโยชน์ในคนอื่น  

“อีกเรื่องที่สำคัญคือระบบการรักษา โรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลเอกชน คนพิการไม่ได้เข้าถึง หลายคนไม่มีเงินและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และทรัพยากรหรือแพทย์ที่มีความเข้าใจเฉพาะเรื่องก็มีค่อนข้างจำกัด คนพิการจึงต้องเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา 

“สาธารณสุขควรเพิ่มและใส่ใจให้มากขึ้น ผ่านการกระจายไปสู่ภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดศูนย์ดูแลและจัดการแผลกดทับอย่างมีระบบ เพื่อไม่ให้มีคนที่เป็นแผลกดทับรุนแรง แต่ถูกส่งตัวกลับจากโรงพยาบาล จนแผลยิ่งลุกลามเพราะที่บ้านไม่มีคนดูแลได้ดีพอ หากต้นทางจัดการได้ดีพอ คนอาจไม่เกิดแผลกดทับรุนแรง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีกว่า”