Skip to main content

17 สิงหาคม วันรับรองภาษามือไทย 

อย่างที่หลายคนรู้กันว่า ภาษามือเป็นภาษาแรกที่คนหูหนวกใช้ในการพูดคุยสื่อความหมายกับคนอื่น ภาษามือจึงถือว่าเป็นภาษาที่สำคัญ ภาษาชนิดนี้ใช้มือเป็นส่วนสำคัญในการทำสัญลักษณ์ ใช้การเคลื่อนไหวมือ แขน ร่างกายและการแสดงความรู้สึกทางใบหน้า เพื่อให้สิ่งที่สื่อสารออกมานั้นตรงประเด็นและแม่นยำที่สุด 

บางคนอาจคิดว่า ภาษามือมีภาษาเดียว แต่ที่จริงแล้วภาษามือนั้นหลากหลายแตกต่างกันทั่วโลกและแยกกันโดยชัดเจน เช่น ภาษามืออเมริกัน ภาษามือบริติช ภาษามือญี่ปุ่นหรือภาษามือสากล(International Sign) ที่ใช้ในการสื่อสารระดับสากล เช่น เวทีการประชุมนานาชาติหรือการประกวดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาษามือชุมชน ที่ประดิษฐ์กันเองโดยคนในชุมชน เพื่อใช้ในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม
 
สำหรับภาษามือไทยถูกเริ่มต้นโดยคุณหญิงกมลา ไกรฤกษ์ ในปี 2495 โดยใช้หลักการทางสัทศาสตร์หรือการเปรียบเทียบการออกเสียง และถูกพัฒนาโดยคนหูหนวกจนกลายมาเป็นภาษามือไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี 2542 โดยรัฐบาลไทยในเวลานั้น
 
“ภาษาแรกของคนหูหนวกก็คือภาษามือ หลักๆ เกิดมาก็จะมีครอบครัว 2 ประเภท คือมีพ่อแม่เป็นคนหูดีหรือมีพ่อแม่เป็นคนหูหนวก สำหรับคนหูหนวกที่มีพ่อแม่เป็นคนหูดี มีโอกาสเจอปัญหาในการสื่อสาร ถึงพ่อแม่จะพยายามพูดแต่ลูกก็ไม่ได้ยินเสียง ส่งผลให้ระดับพัฒนาการทางภาษาของลูกช้ากว่าคนอื่น ในกรณีที่พ่อแม่และลูกเป็นคนหูหนวกทั้งครอบครัวและพวกเขาใช้ภาษาเดียวกัน บางครอบครัวก็ใช้ภาษามือธรรมชาติคือสร้างขึ้นมาเองเพื่อคุยกันในครอบครัว โดยมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง”
 
พฤหัส ศุภจรรยา อาจารย์ประจำภาควิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนถึงความสำคัญของภาษามือสำหรับคนหูหนวก ซึ่งส่งผลถึงเรื่องพัฒนาการและการเรียนรู้ของคนหูหนวก โดยเฉพาะเมื่อคนในครอบครัวไม่ได้เป็นคนหูหนวกเหมือนกันจึงทำให้เกิดการสื่อสารที่ไม่เข้าใจเมื่อไม่ได้ใช้ภาษามือ ซึ่งจะแตกต่างกับครอบครับที่ใช้ภาษามือได้ (อ่าน : คนหูหนวก : คนไทยคนอื่นบนผืนแผ่นดิน)
 
การเรียนรู้เรื่องภาษามือไทยได้ถูกรวบรวมไว้ที่ มี "เว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา" ซึ่งเปิดตัวในปี 2560 เพื่อสร้างมาตรฐานและสร้างความเข้าใจให้คนหลายกลุ่ม เช่น ล่ามภาษามือ ครู ครอบครัวและตัวคนพิการโดยนำเสนอเนื้อหาทั้งคำศัพท์ และลักษณนาม ผ่านการแสดงท่ามือแต่ละแบบ

อ้างอิง

https://www.deafthai.org/wp-content/uploads/2018/

https://thisable.me/content/2020/10/665

https://thisable.me/content/2017/07/223