หากเราย้อนกลับไปในปี 2001 ทุกคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของสุนัขนำทางที่มีชื่อว่า “โรเเซล ” ที่ช่วยนำทางชายตาตาบอดพร้อมกับผู้คนอีก 30 ชีวิตในตึก ให้รอดพ้นอันตรายจากเหตุการณ์ 9/11 หรือตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มในสหรัฐอเมริกา ได้อย่างกล้าหาญและดีเยี่ยม
สิ่งที่เจ้าโรเเซลทำเป็นหนึ่งในหน้าที่ของสุนัขนำทางที่ถูกฝึกมาเพื่อให้บริการคนพิการ และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่สุนัขช่วยเหลือที่คอยช่วยเหลือเจ้าของในการทำกิจวัตรประจำวันในด้านต่างๆ
Thisable.me จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักสุนัขช่วยเหลือว่าพวกมันมีหน้าที่อะไร แตกต่างจากสุนัขทั่วไปอย่างไร และข้อจำกัดของการใช้งานสุนัขช่วยเหลือคืออะไรบ้าง
สุนัขช่วยเหลือคนพิการ คืออะไร แตกต่างกับสุนัขทั่วไปอย่างไร?
สุนัขช่วยเหลือคนพิการคือสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนในระดับสูงสำหรับดูแลเจ้าของสุนัขเพียงคนเดียว โดยจะคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือคนพิการ แต่ละตัวจะมีเอกสารรับรองเฉพาะ ที่ระบุความสามารถของสุนัขในการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทอย่างชัดเจน ดังนั้นความแตกต่างของสุนัขช่วยเหลือกับสุนัขทั่วไปก็คือพวกมันถูกฝึกมาเป็นพิเศษและสามารถเดินทางไปพร้อมกับเจ้าของได้ทุกที่ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร อาคารต่างๆ รวมไปถึงสวนสาธารณะ โดยปกติแล้วสุนัขช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อกั๊ก, ติดป้ายพิเศษ, สวมปลอกคอหรือใส่บังเหียน แต่เจ้าของจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่าสุนัขของพวกเขานั้นเป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกเพื่อช่วยเหลือ และเพื่อให้เป็นที่รับรู้ว่ามันกำลังปฏิบัติงานอยู่ เจ้าของส่วนใหญ่จึงมักเลือกที่จะสวมใส่อุปกรณ์ให้กับสุนัขเพื่อบ่งบอกว่าพวกมันเป็นสุนัขช่วยเหลือและกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่และคนทั่วไปไม่ควรขัดขวางการทำหน้าที่นี้
อย่างไรก็ดี แม้สุนัขช่วยเหลือสามารถเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ กับเจ้าของได้ แต่หากสุนัขมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อผู้คนในบริเวณนั้นก็อาจถูกขอให้นำออกจากพื้นที่ได้
กว่าจะได้เป็นสุนัขช่วยเหลือคนพิการนั้น สุนัขต้องรับการฝึกฝนอย่างสูงและผ่านบททดสอบหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำ สุนัขที่เข้ารับการฝึกต้องมีความอดทนสูงและมีสมาธิ จนสามารถผ่านบททดสอบมาตรฐานได้แก่
- การทดสอบให้อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อดูว่าสุนัขสามารถควบคุมสมาธิพร้อมรับมือกับสภาพเเวดล้อมต่างๆ ได้หรือไม่
- การทดสอบช่วยเหลือคนพิการทาางร่างกาย เช่น สุนัขสามารถนั่งคอยได้นานๆ อย่างสงบแม้จะมีคนมาเล่นด้วยก็ต้องไม่กระโดด ตื่นเต้นหรือว่าดีใจ รวมทั้งสุนัขยังรับฟังคำสั่งให้หยิบของและ เปิด - ปิดประตูได้
- การทดสอบการนำทางโดยเฉพาะสุนัขนำทางคนพิการทางสายตา เพื่อดูว่าสุนัขสามารถนำทางได้อย่างปลอดภัย หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ มีสมาธิสูง ไม่ว่อกแว่กและตัดสินใจได้
- การทดสอบการได้ยินโดยเฉพาะสุนัขดูแลคนพิการทางการได้ยิน เพื่อดูการตอบสนองต่อการได้ยินและเเยกประเภทเสียงต่างๆ ว่าเป็นเสียงรบกวนทั่วไปหรือเป็นเสียงเตือนภัย เช่น เสียงกริ่งแจ้งเตือนไฟไหม้และการขานรับชื่อเมื่อเจ้าของเรียกหา
เมื่อถึงระยะเวลาครบตามกำหนดของการฝึก สุนัขที่ผ่านการทดสอบก็จะได้ใบรับรองเป็นประกาศนียบัตรจากหน่วยงาน Dog Certification of America หรือจาก Nation Service Animal Registry (NSAR) ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงอีกหลายหน่วยงานที่มีการทดสอบและออกใบรับรองให้แก่สุนัขช่วยเหลือ เพื่อเป็นการแสดงสิทธิว่าสุนัขเหล่านี้สามารถเข้าไปในพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่ซึ่งไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้
สุนัขช่วยเหลือคนพิการ มีกี่ประเภท?
สุนัขช่วยเหลือถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.Guide dog หรือสุนัขนำทาง มีหน้าที่ช่วยนำทางคนพิการทางการมองเห็น สอดส่องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
2.Hearing dog หรือสุนัขช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีหน้าที่รับฟังเสียงและคอยเตือนผู้พิการว่าเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น
3.Service dog หรือสุนัขช่วยเหลือ มีหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการหรือคนที่มีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ความพิการประเภทต่างๆ คนที่มีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือด โดยสุนัขช่วยเหลือจะทำหน้าที่ช่วยเตือนระดับน้ำตาลในเลือดให้กับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้พวกมันยังถูกฝึกให้มีความสามารถเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วยเช่น การช่วยกดปุ่ม, เปิดประตู, หยิบสิ่งของหรือเตือนผู้อื่นเมื่อเจ้าของไม่ตอบสนองได้อีกด้วย
สายพันธุ์ของสุนัขที่นิยมฝึกให้เป็นสุนัขช่วยเหลือมี 4 สายพันธุ์คือ
1.German Shepherd เป็นสุนัขขนาดใหญ่ ฉลาด ฝึกง่ายและชอบทำกิจกรรม
2.Labrador Retriever เป็นสุนัขที่ถูกฝึกสำหรับงานนี้โดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ เพราะมีความกระตือรือร้น สงบ เชื่อฟังและเป็นมิตร อีกทั้งยังแข็งแรงและพลังงานเยอะ
3.Golden Retriever เป็นสุนัขที่มีขนาดกลางแต่ประสาทสัมผัสดีเยี่ยม ฉลาดและมีความร่าเริง
4.Border Collie เป็นสุนัขที่ฉลาด คล่องแคล่ว ว่องไว ฝึกสอนได้ง่ายและชอบสังเกตอยู่เสมอ
คุณสมบัติพิเศษของสุนัขช่วยเหลือคนพิการมีอะไรบ้าง?
สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกไม่มั่นคงได้ดีในสภาพเเวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนและสัตว์อื่นๆ อีกทั้งพวกมันจะไม่ตกใจง่าย ไม่ข่มขู่ผู้คนหรือหวั่นกลัวกับเสียงต่างๆ
สามารถอยู่ภายใต้คำสั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เข้าใจทั้งคำสั่งเสียง คำสั่งภาษามือหรือทั้ง 2 ภาษา
สามารถอยู่ในรถสาธารณะ เช่น รถไฟ รถประจำทางหรือเครื่องบินได้อย่างสงบ และยังนั่งรอให้ถึงเวลาขึ้น - ลงพาหนะต่างๆได้เมื่อเจ้าของออกคำสั่งให้ไป นอกจากนี้พวกมันต้องไม่ดึง กระชากหรือเดินนำเจ้าของเพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะหากเป็นสุนัขนำทางคนตาบอด ที่จะต้องมีความระมัดระวังในการนำทางเป็นพิเศษ มันต้องคอยเตือนให้เจ้าของรู้ว่า ต้องหยุดเดินตอนไหน เดินไปยังทิศทางทางใด และปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อต้องข้ามถนน
สามารถอยู่บนท้องถนนที่มีเสียงดังรบกวนได้อย่างสงบ ผ่อนคลาย ไม่ตื่นตกใจกับเสียงแตรรถ รวมทั้งไม่ถูกหันเหความสนใจจากสิ่งเร้ารอบข้าง
สามารถแยกเสียงเตือนภัยออกจากเสียงรบกวนทั่วไปได้
สามารถจำชื่อเจ้าของได้ เมื่อมีคนเรียกชื่อเจ้าของ โดยเฉพาะสำหรับคนพิการทางการได้ยิน สุนัขต้องสามารถเตือนเจ้าของให้รับรู้ได้ รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกหรือหยิบข้าวของตามคำสั่งให้แก่คนพิการทางร่างกายได้
ข้อควรรู้เมื่อพบเจอสุนัขช่วยเหลือคนพิการ
แน่นอนว่าในบางประเทศเมื่อสุนัขช่วยเหลือสามารถไปไหนมาไหนกับเจ้าของที่เป็นคนพิการได้อย่างอิสระ คนทั่วไปก็มีโอกาสได้พบเจอกับคนพิการและสุนัขช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี เมื่อสุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารัก น่าจับ หลายคนก็อาจตรงเข้าไปเล่นกับสุนัขโดยลืมว่าพวกมันกำลังปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่จนอาจทำให้สุนัขเสียสมาธิและทำให้เจ้าของบาดเจ็บได้ ฉะนั้นการปฏิบัติตัวของคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้
หากคนทั่วไปพบเจอคนพิการที่ใช้สุนัขช่วยเหลือ ซึ่งสังเกตง่ายๆ ผ่านสัญลักษณ์บนตัวสุนัข เช่น สุนัขนำทางจะใส่บังเหียนที่เป็นเหมือนชุดเกราะคลุมตัวอยู่หรือมีสัญลักษณ์ โลโก้ต่างๆ หรือตัวอักษรว่า Service Dog เขียนอยู่ นั่นหมายความว่าสุนัขตัวนั้นเป็นสุนัขช่วยเหลือ
และไม่ว่าจะเป็นสุนัขช่วยเหลือประเภทใด การปฏิบัติต่อสุนัขที่ดีคือ ไม่เข้าไปรบกวนด้วยการสัมผัส ส่งเสียงดังหรือให้อาหาร เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้สุนัขนั้นสมาธิในช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่และจะทำให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของซึ่งเป็นคนพิการได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนี้ หากต้องการที่จะพูดคุยกับคนพิการ หรือต้องการที่จะเล่นหรือหยอกล้อกับสุนัข ก็ควรที่จะทักทายคนพิการก่อนเท่านั้น ไม่ควรปรี่ตรงเข้าไปหรือเรียกชื่อสุนัขก่อน โดยที่ไม่ทักคนพิการ หรือไม่ขออนุญาตก่อน เพราะการกระทำเหล่านี้ทำให้คนพิการรู้สึกถูกมองข้ามความเป็นตัวตน
อีกสิ่งที่คนทั่วไปควรเข้าใจก็คือ การใช้สุนัขนำทางเป็นทางเลือกที่คนพิการสามารถเลือกได้ในการดำรงชีวิต ซึ่งถูกระบุไว้ในกฎหมายอย่างถูกต้องรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ฉะนั้นสุนัขช่วยเหลือจึงสามารถเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ได้พร้อมกับเจ้าของที่เป็นคนพิการได้อย่างถูกกฎหมาย และการกำหนดห้ามไม่ให้สุนัขช่วยเหลือเข้าใช้สถานที่ต่างๆ ระบบขนส่งสาธารณะหรือการบอกให้คนพิการผูก ล่าม มัดสุนัขไว้นอกอาคารจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการละเมิดสิทธิคนพิการ และเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ
อย่างไรก็ดี แม้ในไทยจะอนุญาตให้คนพิการสามารถใช้สุนัขช่วยเหลือได้ แต่เรากลับไม่เคยเห็นคนพิการที่ใช้สุนัขนำทางนอกจากอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยใช้เมื่อครั้งกลับจากอเมริกา และทราย-คีรินทร์ เตชะวงษ์ธรรม ที่เพิ่งเป็นกระแสเมื่อช่วงที่ผ่านมาเลย ทำไมการใช้สุนัขช่วยเหลือจึงมีจำนวนน้อยนัก
ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อคนพิการในการใช้สุนัขช่วยเหลือ
มีกฎหมายคุ้มครองแต่ไม่สามารถใช้ได้จริง
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 20 วรรค 8 เรื่องของสิทธิในการนำสัตว์นำทางหรือเครื่องมือช่วยเหลือความพิการใดๆ ติดตัวไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินทาง แต่ทว่าในหลายๆ สถานที่ก็ยังมีข้อจำกัดในการห้ามนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาลหรืออาจกล่าวได้ว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ควบคุมสถานที่นั้นๆ เสียมากกว่า
จากเรื่องราวของทราย - คีรินทร์และลูเต้อร์สุนัขนำทาง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ ผมชื่อลูเต้อร์ ” เราจะเห็นได้ว่า หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา ทรายและลูเต้อร์พบอุปสรรคมากมายในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเข้าไม่ถึงสถานที่ต่างๆ การถูกปฏิเสธเข้าใช้บริการ รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของข้อกำหนดในการใช้สุนัขนำทางและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
จุดนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่สุนัขช่วยเหลือกลับไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควรและไม่มีการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้สุนัขช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ คนพิการจึงไม่มีสิทธิเลือกวิธีการใช้ชีวิตอย่างอิสระตามที่ตัวเองต้องการได้อย่างครบถ้วน
ทางเท้าที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวก
ทางเท้าประเทศไทยไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็มักจะเจอกับปัญหาความไม่สะดวกและอันตรายอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม่เรียบ สิ่งของขรุขระ มีแอ่งน้ำขังสกปรก มีขยะวางเกลื่อน ป้ายรถเมล์ที่ใหญ่และเกะกะขวางทางเท้า ป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียง แผงร้านค้าขายของและการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัญหากับคนทั่วไปอยู่แล้ว และยิ่งเป็นปัญหากับคนพิการ ทั้งคนพิการทางร่างกายและทางการมองเห็นที่อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต คนพิการทางการมองเห็นมักใช้ไม้เท้าขาวกวาดไปมาเพื่อสำรวจพื้นที่โดยรอบก่อนที่พวกเขาจะเดินไปข้างหน้าและมักใช้มือสัมผัสกับสิ่งของรอบกายซึ่งทำให้พวกเขามีความจำเป็นต้องเดินเข้าไปใกล้กับวัตถุชิ้นนั้นจึงจะรู้ว่าพื้นที่ไม่สามารถไปได้และต้องหลีกเลี่ยง หากพวกเขาใช้สุนัขนำทาง สุนัขจะทำหน้าที่ในการระวังสิ่งกีดขวางแทนคนพิการและพาหลีกเลี่ยงอุปสรรคต่างๆ ไปยังที่ที่ปลอดภัยกว่า รวมไปถึงหากเจอพื้นที่แคบๆ สุนัขก็จะช่วยนำทางไม่ให้คนตาบอดเดินชนสิ่งของอีกด้วย
การเจอสุนัขจรจัดหรือสุนัขเจ้าถิ่น
อีกปัญหาหนึ่งที่อาจเจออย่างไม่อาจคิดระหว่างเดินทางก็คือ การพบเจอสุนัขจรจัดหรือสุนัขเจ้าถิ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนพิการและสุนัขนำทางได้ โดยเฉพาะเมื่อสุนัขนำทางถูกฝึกมาให้ไม่ต่อสู้ การเจอกับสุนัขตัวอื่นที่เข้ามาทำร้ายจึงอาจทำให้สุนัขไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการได้เหมือนเดิมและอาจเกิดอันตรายกับทั้งคนพิการและสุนัขได้ ทราย-คีรินทร์และลูเต้อร์ก็เจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน จึงทำให้พวกเขาต้องมีผู้ช่วยนำทางอีกคนที่คอยสังเกตเส้นทางและพาคนพิการกับสุนัขนำทางเดินไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังต้องคอยกันสุนัขตัวอื่นๆ ที่อาจเข้ามารบกวนการทำงานของสุนัขช่วยเหลือด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก
http://www.1479hotline.org/archives/11211
https://www.youtube.com/watch?v=Lu9zAoE-io4
https://www.dogilike.com/content/tip/9442/
http://www.prbangkok.com/th/hotnews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ2NDEyMQ==