Skip to main content
"ฉันเหนื่อยมากที่ต้องรู้สึกขอบคุณที่มีห้องน้ำคนพิการ สิ่งที่ฉันรู้สึกคือเมื่อไหร่ฉันจะเท่าเทียมกับสังคมเสียที"
Judith Heumann นักสิทธิคนพิการกล่าวในตอนหนึ่งของสารคดี เรื่อง CRIP CAMP: A DISABILITY REVOLUTION. ที่ฉายทาง เน็ตฟลิกซ์
 
ใครจะคาดคิดว่า ด้วยสภาพสังคมตอนนั้น คนพิการจะรวมตัวกันออกมาประท้วง และทำการยึดอาคารอาคารสำนักงานกระทรวงสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิภาพของรัฐบาลยาวนานได้ถึง 24 วัน เพื่อเรียกร้องกฎหมายด้านสิทธิคนพิการ และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ซึ่งต่อมากฎหมายนี้ได้ปูทางให้สหรัฐอเมริกาเกิดกฏหมายด้านสิทธิของคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม ที่ใช้จนมาถึงปัจจุบัน Thisable.me ชวนทุกคนย้อนดูบันทึกการต่อสู้เรื่องสิทธิคนพิการในสหรัฐฯว่า กว่าจะมาถึงวันที่มีกฎหมายคนพิการ ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียม คนพิการอเมริกันต้องต่อสู้และผลักดันอะไรกันมาบ้าง
 
ย้อนกลับไปในปี 1970 ตอนนั้นสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีกฏหมายด้านสิทธิคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดกลุ่มคนพิการออกมาเรียกร้องให้เกิดการร่างกฎหมาย บนพื้นฐานที่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเงินจากรัฐ ทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณะสุข ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่ากับใครก็ตาม ร่างกฎหมายนี้มีชื่อว่า “กฏหมายฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ”
 
แน่นอนว่าในเวลานั้น รัฐแทบจะปฏิเสธในทันที ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ให้สัมภาษณ์ว่า การมีกฏหมายนี้เป็นไปไม่ได้ในทางงบประมาณ โดยเฉพาะการก่อสร้างลิฟต์และทางลาด "แค่งบรวมก็ไม่น่าดูแล้ว" นิกสันกล่าว
 
ปี 1973 คนพิการรวมตัวเพื่อประท้วงอีกครั้งหน้าที่ทำการของนิกสัน พวกเขาปิดถนนด้านหน้า โดยในครั้งนี้มีคนพิการเข้ามาสมทบจำนวนมาก โดยเฉพาะคนพิการจากสงครามเวียดนาม จนท้ายที่สุด นิกสันจึงยอมเซ็นต์ผ่านร่างกฏหมาย อย่างไรก็ดี มีกฏหมายอยู่ข้อหนึ่งที่เขาไม่ยอมเซ็นต์ ก็คือ"ข้อ 10 การเลือกปฎิบัติ"
 
ปี 1977 หลังผ่านกฏหมาย คนพิการกลับพบว่า ในความเป็นจริงแล้วกฏหมายใช้งานได้น้อยมาก "สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล ไม่อยากจะเสียเงินเพื่อต่อเติมตึก" Judith อธิบายเหตุผล
 
ในเวลานั้น แม้จะมีการเปลี่ยนประธานาธิบดี เป็นจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิภาพ เป็น ‘คาลิฟาโน่’ แต่เขากลับไม่ได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ตอนเลือกตั้ง ที่ระบุว่า จะให้การสนับสนุน และผ่านกฎหมายบางส่วนที่รัฐยังเซ็นต์ไม่ครบ
 
เกิดการชุมนุมของคนพิการอีกครั้งที่อาคารสำนักงานกระทรวงสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิภาพ แกนนำคนพิการยกระดับการชุมนุมเป็นระดับชาติ มีผู้ชมนุมกว่า 300 คนทั้งคนพิการ และไม่พิการ พวกเขาตัดสินใจบุกยึดอาคารทำการของกระทรวงฯ โดยมีจุดมุ่งหมายคือเรียกร้องให้ผ่านกฏหมายที่ชื่อ 504 เรื่องการเลือกปฏิบัติ
 
หลังจากยึดอาคารที่ทำการอยู่หลายวัน ก็เริ่มถูกภาครัฐตอบโต้ ทั้งตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดการสื่อสารผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนพิการทางได้ยินจึงใช้ภาษามือสื่อสารกับคนด้านนอก ถึงจะโดนกีดกัน แต่ก็ยังมีกลุ่มที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เช่น กลุ่มแบล็กแพนเธอร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสี และองค์กรส่วนท้องถิ่น
 
"ผมทึ่งที่มีคนอยู่เยอะขนาดนั้น และอึ้งกับสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องทน ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ไม่มีผู้ดูแลส่วนตัว ไม่สามารถใช้สายสวนได้ แค่ดูแลร่างกายตัวเองก็ยากพออยู่แล้ว ยังไม่ได้พูดถึงคนที่ไม่สามารถพลิกตัวนอนได้เอง นอนบนพื้นน่ะเหรอ หายนะชัดๆ" - หนึ่งในผู้ชุมนุมกล่าว
 
การชุมนุมในอาคารดำเนินไปอย่างน้อยสิบวัน แม้จะมีคนของรัฐบาลเข้ามาเจรจาแต่ก็ไม่เป็นผล พวกเขายืนยันในเรื่องที่ตนเรียกร้อง จนเข้าสู่วันที่ 15 แกนนำบางส่วนเดินทางไปยังวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยืนข้อเรียกร้องต่อประธานาธิบดีโดยตรง และแน่นอนว่าเขาไม่ออกมารับข้อเรียกร้อง
 
การชุมนุมยืดเยื้อจนถึงยาวนานจนถึงวันที่ 24 ในที่สุดคาลิฟาโน่ รัฐมนตรีประจำกระทรวงสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิภาพ ก็เซ็นต์ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนจะส่งเรื่องไปยังรัฐสภาเพื่อลงคะแนนและผ่านร่างในเวลาต่อมา กฏหมายฉบับนี้ส่งเสริมให้เด็กพิการต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมตามกฎหมาย รัฐต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างทั่วถึง จัดหาล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก และคนช่วยอ่านสำหรับคนตาบอด
.
วันที่ 26 กรกฎาคม 1990 กฏหมายฉบับนี้ผ่านอย่างเป็นทางการ รวมเวลากว่าสิบปีที่คนพิการในสหรัฐฯ ใช้เรียกร้องสิทธิของตนเอง ผ่านหยาดเหงื่อ และน้ำตาและน้ำตาบนวีลแชร์ ก่อนวันที่พวกเขาจะยืดอกภาคภูมิใจบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีเท่ากันในฐานะพลเมือง