Skip to main content

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, UNFPA ประเทศไทย, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดงานรายงานผลการสำรวจสถานการณ์สิทธิสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชนพิการเพื่อรายงาน “สถานการณ์การใช้นโยบายในประเด็นสิทธิทางเพศ และอนามัย เจริญพันธุ์ของเด็กและเยาวชนพิการ” โดย พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล, งานเสวนา “เยาวชนพิการ แต่เพศไม่พิการ : เสียงที่ไม่เคยถูกได้ยิน” โดยมี กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล ประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทย, วิทวัส แว่นแก้ว เยาวชนพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมายและอธิษฐาน สืบกระพันธ์ เยาวชนพิการทางการเคลื่อนไหวเข้าร่วมการเสวนา

มณเฑียร บุญตัน ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้กล่าวเปิดงานว่า การไม่ยอมรับการมีอยู่ของคนพิการในสังคมไทย โดยเฉพาะพ่อแม่ของคนพิการที่ไม่ยอมรับความจริงว่าลูกของตนมีความพิการ หรือคู่สามี ภรรยาที่ไม่ยอมรับการมีคู่สมรสที่พิการ ทำให้มีการลงทะเบียนคนพิการน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะไม่อยากถูกตราหน้าว่ามีคนในครอบครัวเป็นคนพิการ พอตัวเลขของคนพิการในไทยมีจำนวนน้อย ก็ถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อยในสังคม จนขาดการส่งเสริมทั้งในด้านนโยบายและกฏหมาย ทั้งที่มีหลายประเด็นยังต้องขับเคลื่อน อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศของคนพิการ และการละเมิดสิทธิภายในครอบครัว เช่น การทำหมันคนพิการ เป็นต้น

นอกจากนี้ สังคมไทยควรมีการศึกษาเรื่องสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็ก และเยาวชนพิการ เนื่องจากคนพิการเป็นกลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้น้อย โดยเฉพาะทรัพยากรด้านข้อมูลที่ส่งผลให้ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ การมีองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนพิการ

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวในรายงาน “สถานการณ์การใช้นโยบายในประเด็นสิทธิทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กและเยาวชนพิการ” ว่า สาเหตุที่คนพิการมีปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ เพราะคนพิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้การเรียนรู้เรื่องเพศจากเพื่อนและคนรอบข้างเท่านั้น ซึ่งความรู้และทักษะบางอย่างอาจไม่ถูกต้อง และนำไปสู่ความเสี่ยงเรื่องการตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการจัดการปัญหาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ตัวคนพิการเองยังมีความละเอียดอ่อนในเชิงสุขภาพ ซึ่งต้องการการดูแลอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ความรู้อย่างจริงจัง และขาดระบบสื่อสารกับสังคมที่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงควรดำเนินการให้เยาวชนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มีช่องทางที่หลากหลายสำหรับคนพิการในประเภทต่างๆ ให้ครบถ้วน พัฒนาบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับคนพิการให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิคนพิการ รวมถึงเรื่องสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ โดยไม่ตัดสินหรือชี้นำ และมีการจัดสำรวจสถานการณ์สิทธิอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงการบริการและข้อมูลให้สามารถใช้งานจริงได้ตลอดเวลา  

ในเวทีเสวนา “เยาวชนพิการ แต่เพศไม่พิการ: เสียงที่ไม่เคยถูกได้ยิน” นั้น กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล ชี้ว่า คนตาบอดมีการเรียนรู้ด้านเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในระดับต่ำ เพราะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่น้อยกว่าคนทั่วไป อีกปัญหาคือการเรียนที่เน้นวาดภาพ ทำให้คนตาบอดมองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่าสิ่งที่อธิบายเป็นอย่างไร จึงควรมีโมเดลให้สัมผัสจะทำให้คนตาบอดมีโอกาสเรียนรู้ได้มากขึ้น อีกปัญหาหนึ่่งคือเรื่องของความไม่เข้าใจของคนรอบข้างที่มองว่า เป็นคนพิการไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรเรียนรู้เรื่องเพศ จึงไม่รู้สึกว่าคนพิการต้องเข้าใจ ทั้งๆ ที่ควรมีการสอนตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การใช้ผ้าอนามัย การดูแลป้องกันการตั้งครรภ์ เป็นต้น

วิทวัส แว่นแก้ว สะท้อนว่า คนหูหนวกมีความเข้าใจอยู่แล้วในเรื่องพื้นฐานด้านเพศ และอนามัยเจริญพันธ์ แต่ปัญหาความเข้าใจด้านกฏหมายและสวัสดิการมีไม่มากพอ เช่น เมื่อเกิดโรคหรือปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ควรกินยาหรือดูแลตัวเองแบบไหน เพราะสื่อสารกับหมอหรือผู้เชี่ยวชาญยาก เมื่อตัดสินใจซื้อยามากินเองก็อาจมีผลกระทบอื่นตามมา จึงอยากให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อธิษฐาน สืบกระพันธ์ เล่าว่าคนพิการทางการเคลื่อนไหวไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเพศ เพราะถูกปิดกั้นจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง เมื่อเกิดปัญหาตั้งครรภ์ก็พยายามจะแก้กันที่ปลายเหตุ ไม่มองที่ต้นทางของปัญหาว่า เกิดจากคนพิการเองขาดความเข้าใจ คนทั่วไปไม่เข้าใจว่า คนพิการเองก็มีความรู้สึกทางเพศเหมือนคนอื่น จึงควรมีการจัดอบรมให้ความรู้กับคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ ผู้ดูแลคนพิการให้เข้าใจข้อจำกัด ความแตกต่างและความต้องการของคนพิการด้วย