Skip to main content

มีแฟนเพจท่านหนึ่งถามเราเข้ามาว่า ห้องน้ำคนพิการ จริงๆ แล้วคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความพิการอะไร สามารถใช้ได้ไหม แล้วถ้าใช้ได้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ตลอดจนการถกเถียงเรื่อง PRIORITYหรือลำดับความสำคัญของคนพิการ 

เมื่อมีข้อเถียงมากมายซึ่งยังไม่ได้คำตอบ ภาระการตอบที่น่าจะเข้าท่าที่สุดจึงไม่น่าจะพ้นใครไปได้นอกจากตัวคนพิการ พวกเขาคิดยังไงกันแน่ กับเรื่องห้องน้ำคนพิการ ลิฟต์โดยสาร หรือที่จอดรถคนพิการ สิ่งเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พวกเขามีทัศนะต่อการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร 

ถ้าอ่านจบแล้วคิดเห็นกันยังไง แสดงความเห็นกันได้ด้านล่างเลยว่า ห้องน้ำคนพิการ … ฉันใช้ด้วยได้ไหม ?

 

มานิตย์ อินทร์พิมพ์(ซาบะ)

"Priority (การให้สิทธิ) และสิ่งอำนวยความสะดวก" คำสองคำนี้มีการใช้งานที่ต่างกัน หากไม่ระวังและไม่เข้าใจ จะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน Priority คือการให้สิทธิในการใช้สิ่งนั้นๆ ก่อนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคำรวม ในส่วนของความหมายในฝั่งคนพิการ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้

การใช้งานพื้นที่พิเศษบนรถสาธารณะ

บนตู้โดยสารรถไฟฟ้าจะมีพื้นที่ให้รถเข็นจอดอยู่ หัวตู้ 2 จุด และท้ายตู้ 2 จุดพื้นที่ตรงนั้นเราเรียกเต็มๆ ว่า Priority Wheelchair Space ซึ่งทุกคนสามารถใช้ได้ตามปกติ และต้องคืนพื้นที่ให้เมื่อมีคนพิการขึ้นมาเพราะไม่งั้นคนพิการที่นั่งรถเข็นจะกินพื้นที่มากและขวางทางเข้าออกของผู้โดยสารคนอื่นๆ ทำให้ traffic flow เกิดความติดขัด เก้าอี้นั่งบนตู้โดยสารรถไฟฟ้า หรือบนรถเมล์ ก็จะมี Priority Seat คือที่นั่งสำหรับกลุ่มคนพิเศษ และพื้นที่ Wheelchair Space ก็มีบริบทการใช้งานคล้ายๆ กัน

การใช้งานห้องน้ำ

การใช้งานห้องน้ำ 'ไม่ใช่การใช้งานแบบ Priority' กรณีห้องน้ำ เราต้องเรียกคำเต็มๆ เพื่อความชัดเจนกันก่อนว่า 'ห้องน้ำคนพิการ' หรือภาษาอังกฤษเรียก Accessible Rest Room ภาษาไทยอาจจะดูจำเพาะนิดหนึ่ง แท้จริงแล้วเป็นคำเรียกรวม 'คนพิการ' หมายถึงกลุ่มคนที่มีความจำเป็นนั่นเอง เช่น คนพิการ, ผู้สูงอายุ, ครอบครัวที่มีเด็กอ่อน, คนท้อง ซึ่งหมายถึงคนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพและมีความจำเป็นต้องใช้

การใช้งานห้องน้ำ เพื่อความชัดเจน ขอยกตัวอย่างในห้างสรรพสินค้า

ห้องน้ำของบุคคลทั่วไปมีหลายสิบห้องที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ห้องน้ำคนพิการ ส่วนมากมีห้องเดียว คนทั่วไปเดินมาแล้วบอกว่าห้องน้ำไม่ว่าง ทุกคนก็ยังเดินไปหาจุดอื่นได้อย่างรวดเร็ว หากมาใช้ห้องน้ำคนพิการ ซึ่งมีเพียงหนึ่งหรือสองห้อง พอคนพิการมา ก็นั่งรอ​...​ บางคนรอไม่ได้ อั้นไม่ได้ และยังเดินทางไปหาจุดอื่นได้ยากลำบากกว่า

การใช้งานลิฟต์

ลิฟต์ในห้างสรรพสินค้าทุกคนสามารถใช้ได้ เพราะจุดประสงค์เจ้าของสถานที่สร้างและออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ และมีการสร้างไว้หลายจุดมาก แต่ลิฟต์บนสถานีรถไฟฟ้า 'ไม่ใช่การใช้งานแบบ Priority' เขาทำมาให้เพื่อคนที่มีความจำเป็นพิเศษเท่านั้น ผู้ให้บริการอาจจะไม่ได้ประกาศชัดเจน ซึ่งกลุ่มคนที่ต้องการใช้เหมือนกรณีห้องน้ำ จะมีเพิ่มนักท่องเที่ยวที่มีสัมภาระ กระเป๋าเดินทางหนัก ขึ้นมา

ทำไมไม่ใช่? หลายคงอาจจะงง อธิบายให้ฟังอย่างนี้ ยกตัวอย่าง สถานีรถไฟฟ้า มีทางเข้า-ออก 4 จุด ทุกจุดมีบันไดและมีบันไดเลื่อนรองรับ แต่จะมีลิฟต์ให้กับคนพิการ โดยส่วนใหญ่เพียงจุดเดียวของฝั่งถนน หากเมื่อทุกคนมาแย่งใช้ลิฟต์ทั้งๆ ที่มีทางเลือกคือบันไดและบันไดเลื่อนอยู่แล้ว ลิฟต์ก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลงและเสียบ่อย และเมื่อลิฟต์เสีย คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเดินทางได้ นั่นก็คือ คนพิการและคนที่มีความจำเป็นนั่นเอง

สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานประเภทต่างๆ มีบริบทการใช้งานแตกต่างกัน อาจจะดูเหมือนยุ่งยาก หากเรามองถึงสิทธิและความเท่าเทียมและสุดท้ายใช้จิตใจที่เป็นธรรม นึกถึงคนอื่นๆ ในสังคมที่มีความอ่อนแอกว่า ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก

 

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

ห้องน้ำคนพิการ กลุ่มคนที่ไม่พิการแต่เป็นกลุ่มคนที่มีข้อจำกัด  เช่น คนชรา คนท้อง ครอบครัวที่มีเด็กอ่อน คนที่มีการเจ็บป่วยทางร่างกายชั่วคราว  คนที่กลัวความแคบ สามารถใช้ร่วมกันได้ ส่วนกลุ่มคนอื่นๆที่ไม่ได้มีความจำเป็นตามกลุ่มข้างต้น ไม่ควรจะต้องใช้ เพราะห้องน้ำสำหรับคนพิการมีจำกัด   หากในบริเวณนั้นมีจำนวนห้องน้ำคนพิการมากกว่าหนึ่งห้อง คนไม่พิการก็ใช้ได้ แต่ควรจะต้องตระหนักสำนึกใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น  

1.ต้องให้กลุ่มที่มีข้อจำกัดสามารถใช้ร่วมกันได้

2.คนที่ไม่มีข้อจำกัดใดๆต้องตระหนักตนเองว่าไม่ควรใช้ เพราะตนเองไม่มีข้อจำกัดใดๆ

เนื่องจากจำนวนห้องน้ำสำหรับคนพิการมีจำนวนน้อยมาก ลิฟต์ไม่ควรจะเป็นลิฟต์เฉพาะเจาะจง  คิดว่าไม่ควรจะต้องให้สิทธิคนพิการ เพราะคนพิการเองก็ควรต้องเคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน คือมาก่อนได้ขึ้นก่อน มาหลังขึ้นหลัง ไม่แซงคิวกันก็โอเคแล้ว  กรณีของคนตาบอด ก็ควรให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงการใช้งาน เช่นช่วยนำไปต่อแถวและบริการพาไปส่ง แต่ไม่เห็นด้วยถ้าหากบริการกดให้แล้วพาคนตาบอดแซงคิวคนอื่นก่อน

อนาคตห้องน้ำควรจะต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ห้องน้ำตามแบบแปลนมาตรฐานทั่วไป มีขนาดความกว้างที่รองรับกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดไว้เลย เนื่องจากปลายทางทุกคนย่อมแก่เฒ่า และมีโอกาสได้ใช้แน่นอน

ส่วนที่จอดรถสำหรับคนพิการ กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกายสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ควรต้องให้คนพิการที่สามารถขับเองได้ มีสิทธิที่จะจอดได้ก่อนกลุ่มคนอื่นๆ  เพราะข้อจำกัดทางร่างกายทำให้ต้องใช้พื้นที่มากในการขึ้นลง ในอนาคตอยากเห็นการขยายขนาดช่องจอดทั่วไปให้มีขนาดกว้างพอที่จะให้คนพิการสามารถจอดช่องไหนก็ได้ เพราะการมีที่จอดแบบแยกออกมาคล้ายกับเป็การผลักคนพิการให้เป็นคนอีกกลุ่ม

 

บุญฤทธิ์ จันทร

มองว่าเรามีสิทธิใช้ร่วมกันได้ แต่ในกรณีที่มีคนพิการมา ก็ควรให้คนพิการเข้าก่อน ถามว่าทำไมถึงมองว่าควรใช้ร่วมกันได้ เพราะมันไม่จำเป็นที่จะต้องทำแยกเฉพาะกลุ่ม หรือทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้จำเป็นถึงขนาดต้องทำให้คนพิการแค่กลุ่มเดียว เพียงแต่คำว่า ห้องน้ำคนพิการเป็นห้องน้ำที่สะดวกต่อคนพิการ คนพิการสามารถใช้ได้

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยที่ว่าห้องน้ำคนพิการจะเป็นแค่สิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะกลุ่ม  หรือบังคับให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้ จะดีกว่าไหม ถ้าทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้  อย่างที่จอดรถคนพิการควรจะเฉพาะหน่อย เพราะคนพิการหาที่จอดรถยาก แต่ลิฟต์เป็นสิ่งที่มันมีอยู่โดยตลอด มันไม่ต้องรอนานมากเหมือนที่จอดรถ มันควรจะใช้ร่วมกันได้

ผมมีความเห็นแตกต่าง ตรงที่คนพิการบอกว่าอยากให้ทุกคนมองว่าคนพิการเท่ากัน แต่กลับจำแนกสิ่งอำนวยความสะดวกหรือมองว่าคนพิการต้องใช้ได้เท่านั้น ซึ่งมันขัดกัน

ของคนพิการมันน่าจะหมายความว่าทำขึ้นมาเพื่อให้คนพิการใช้ได้สะดวก  กรณีที่ไม่มีคนพิการใช้คนอื่นก็ได้ใช้ร่วมกันได้ เราบอกว่าอยากให้มันเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ได้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่กลับแยกว่าต้องเป็นของคนพิการ สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญมันไม่ได้หมายความว่าเป็นของคนพิการหรือไม่พิการ สิ่งสำคัญคือจิตสำนึกเมื่อมีคนพิการต้องการจะใช้หรือมีคนพิการอยู่ในบริเวณที่ต้องการจะใช้มากกว่า

 

นันทิดา จิตภักดีรัตน์

เมื่อก่อนคิดว่าใช้ร่วมกันได้ระหว่าง คนพิการและคนไม่พิการ แต่พบว่าคนไม่พิการขาดความเข้าใจในรูปแบบวิธีการใช้ห้องน้ำของคนพิการ ความรู้สึกในตอนนี้ถ้าคนไม่พิการไม่มีเหตุเร่งด่วนจริงๆ อยากสงวนสิทธินี้ให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ

ขอยกตัวอย่างลักษณะการใช้งานที่คนไม่พิการไม่เข้าใจการใช้ห้องน้ำของคนพิการ 

โดยมากมักพบรอยรองเท้าบนฝาชักโครก ซึ่งคิดว่าไม่สมควรทำพฤติกรรมแบบนี้ ควรคำนึงถึงว่าคนพิการจะใช้ห้องน้ำต่อจากคุณอย่างไร เวลาวีลแชร์จะเข้าห้องน้ำต้องย้ายตัวขึ้นไปใช้ชักโครกร่วมกัน มีหลายคนมาล้างเท้าในห้องน้ำเพราะมีสายฉีด เลอะไปหมด เจอแบบนี้หลายๆ ครั้งไม่อยากใช้ห้องน้ำร่วมกันแล้ว

เรื่อง  priority สำหรับคนพิการ อย่างลิฟต์ ห้องน้ำ ที่จอดรถ คนไม่พิการควรปฏิบัติตัวอย่างไร และมันจำเป็นต่อคนพิการอย่างไร เราคิดว่า ในอาคาร สถานที่ต่างๆ ไม่ได้จัดเตรียม ห้องน้ำ ลิฟต์ ที่จอดรถคนพิการ ไว้อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการหรือผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่ไม่มากอยู่แล้ว

ดังนั้นพื้นที่/สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดไว้ในส่วนตรงนี้  ขอสงวนสิทธิให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ส่วนลิฟต์ใช้ร่วมกันได้ เพียงแต่ก่อนที่จะเข้าลิฟต์ไปนั้นช่วยดูรอบๆ ว่ามีคนพิการ/ผู้สูงอายุที่อาจจะยืนนานๆ ไม่ไหวมาใช้ด้วยกันไหม ถ้ามี ควรให้เพื่อนร่วมสังคมได้ใช้ก่อน ในความรู้สึกคือ สังคมที่ดีและน่าอยู่คือสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน

 

ทิพยาภรณ์ เข็มพิลา

สำหรับเรื่องห้องน้ำคนพิการ มองว่า คนทั่วไปสามารถใช้ด้วยได้เช่นกัน ในที่นี้คือ คนท้อง คนชรา หรือคุณแม่ ที่ต้องการพื้นที่ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก เพราะเคยเห็นบางห้องน้ำเหมือนกันที่จัดพื้นที่นี้ไว้ในห้องน้ำคนพิการ

แต่ถ้าคนทั่วไปหมายถึงใครก็ได้นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน คนทั่วไปที่ใช้ห้องน้ำคนพิการ น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าห้องน้ำว่าง และโอ่โถงกว่าห้องน้ำทั่วไป บางทีก็สะอาดกว่าห้องน้ำทั่วไปด้วย ถ้าจะให้เข้าก็เข้าได้ ส่วนตัวไม่ได้มีอคติว่า ห้องน้ำคนพิการคนธรรมดาจะเข้าไม่ได้เลย

เคยเห็นบางคน เขาอยากเข้าห้องน้ำคนพิการแล้วตบประตูเรียกคนข้างใน ซึ่งคนข้างในเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์ เค้าจะใช้เวลาในการทำธุระนานกว่าคนทั่วไป เราว่าตรงนี้ คนทั่วไปบางคนเค้าอาจจะไม่เข้าใจ ซึ่งตามมารยาทแล้วไม่ว่าเค้าจะพิการหรือไม่ เค้ายังไม่ออกจากห้องน้ำก็ไม่ควรไปเร่งใครเค้า อันนี้อาจจะแล้วแต่บุญกรรมว่าจะไปเจอคนแบบไหน 555

สำหรับลิฟต์และห้องน้ำ เรามองว่า คนพิการหรือใม่พิการอาจสามารถใช้ร่วมกันได้ คนพิการก็รอคิวได้ไม่ใช่ว่าเราพิการมาแล้วต้องได้ใช้เลยก่อนชาวบ้านเค้า ขอแค่ว่าห้องน้ำหรือลิฟต์นั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมใช้งานและเพียงพอสำหรับคนพิการให้ใช้ได้อันนี้ก็โอเคแล้ว

แต่สำหรับเรื่องที่จอดรถอาจจะต่างไปหน่อย คือเวลาที่เราขับรถไปไหนสักที่ส่วนมาก เราต้องการทำเวลา เพื่อไปทำธุระหรือกิจกรรมต่างๆ และตัวพื้นที่สำหรับที่จอดรถของคนพิการนั้นต้องกว้างกว่า เพื่อการเคลื่อนย้ายที่สะดวก ถ้าหากว่าไม่สามารถทำให้ช่องจอดรถทุกช่องมันใหญ่พอที่จะรองรับคนพิการได้ ก็อยากให้สงวนที่จอดรถสำหรับคนพิการไว้ให้สำหรับคนพิการเท่านั้น และคนไม่พิการก็ขอให้ใช้งานในช่องจอดรถปกติแทน

ถามว่ามันจำเป็นสำหรับคนพิการอย่างไร ขอตอบว่า มันจะทำให้คนพิการใช้ชีวิตสะดวกขึ้น เราไม่ได้ต้องการอะไรมากนักหรอก แค่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมาทดแทนสิ่งที่เราขาดไปเท่านั้น

ถ้ามีตรงนี้ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ การที่เราสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้นี่มันสำคัญ มันมีผลทางใจ ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเหมือนคนอื่นๆเขานั่นแหละ เพียงแต่ว่าเราเป็นคนในกลุ่มที่ต่างจากคนอื่นก็เท่านั้น ยังคงมีศักยภาพ ไม่ใช่คนไร้ความสามารถ ใม่ไช่ต้องมาเกิดความรู้สึกว่า กับแค่เรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันทำไมถึงยากเย็นอย่างนี้ ซึ่งถ้าเกิดความคิดแง่ลบขึ้นมาแล้ว มันยากที่จะเกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา

 

 

รณภัฎ  วงศ์ภา

ส่วนตัวไม่อยากแยกว่าต้องเป็นคนน้ำที่คนพิการเข้าได้คนเดียว อยากเห็นภาพว่าห้องน้ำทั่วไปที่ต่างๆ ปรับให้ประตูกว้างเท่ากันมาตราฐานรถเข็นเข้าได้ สามารถเข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม

ภาพรวมคนพิการมีความพิการหรือประเภทความพิการไม่เท่ากัน แต่ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญละก็ คิดว่าจำเป็น เช่น ถ้าคนพิการคนหนึ่งจะไปเข้าห้องน้ำที่ปั้ม สิ่งแรกเลยที่จำเป็นคือที่จอดรถคนพิการอันนี้สำคัญเพราะถ้าจอดที่จอดรถทั่วไปถ้ามีคนมาจอดข้างๆ ก็เข้าไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนพิการเพราะถ้าเป็นคนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แต่มีผู้ช่วยในการทำกิจวัตรก็จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการโยกย้ายคนพิการในห้องน้ำ

ส่วนเรื่องลิฟต์มองว่าเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกันได้ ถ้าการออกแบบถูกให้ออกแบบลิฟต์กว้างๆส่วนเรื่องการใช้ถ้าต่อคิวกันแบบมีระเบียบคงจะดีมากเลย ไม่เห็นว่าวีลแชร์หรือคนพิการจะต้องได้สิทธิขึ้นก่อน

 

สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะ

1.ห้องน้ำคนพิการคนทั่วไปก็ใช้ได้ในกรณีห้องน้ำอื่นๆ เต็ม แต่ไม่ควรเข้าไปแช่นานๆ เช่น เข้าไปเล่นโทรศัพท์ ถ้ามีคนพิการมาควรให้คนพิการได้ใช้ก่อน

2. Priority อย่างเช่นห้องน้ำหรือลิฟต์ เรียกว่า priority ได้ เพราะใช้แป๊บเดียว คือใช้ร่วมกันได้แต่ถ้ามีคนพิการมาเขาควรได้ใช้ก่อน ส่วนที่จอดรถนั้นเรียกว่า priority ไม่ได้เพราะว่าจำกัดไว้เฉพาะคนพิการ คนที่เดินได้ลำบาก

คนไม่พิการถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ควรเลี่ยง คิดเสมอว่ามีคนที่จำเป็นมากกว่า เช่น เรื่องห้องน้ำจริงๆ ก็เข้าได้  แต่พอมีคนเข้าเยอะห้องน้ำก็พัง สกปรก แล้วก็จะปิดรอการซ่อม (กี่เดือนก็ไม่รู้กว่าจะมาซ่อม) แบบนี้มันส่งผลกระทบกับคนพิการ ลำบากมากตอนปวดท้องพอลงรถไปแล้วเจอป้าย ห้องน้ำชำรุด แล้วก็อีกเรื่องคือเรื่องแม่บ้านชอบเอาอุปกรณ์มาเก็บ ที่จับในห้องน้ำนี่นึกว่าราวตากผ้า 5555 ผ้าเช็ดอะไรเต็มไปหมดเลย

สำหรับที่จอดรถนั้นจำเป็นมาก เพราะถ้าคนไม่พิการมาจอดไว้แล้วเจ้าของก็ไม่รู้ไปไหน จะเรียกให้มาถอยก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรจำกัดไว้เฉพาะคนพิการเท่านั้น อันนี้คือต้องซีเรียสไปเลย พี่อยู่ที่แอฟริกาใต้ เรื่องที่จอดรถคนพิการเป็นเรื่องใหญ่ของที่นี่ อนุญาตแค่คนสูงอายุกับคนพิการเท่านั้น ถ้าคนอื่นมาจอด รปภ. จะเดินไปบอกให้ไปคุยกับผู้จัดการ  เห็นเองกับตา เราชื่นชมความชัดเจนของ รปภ.

ส่วนที่จอดรถเวลาเดินทางกับสามีซึ่งเขาไม่พิการ ถ้าเราไม่ลงเขาจะไปจอดช่องทั่วไป  เพราะที่จอดคนพิการเป็นพื้นที่สำหรับคนพิการที่ขับเองหรือนั่งมาด้วยที่ต้องใช้พื้นที่ในการขึ้นและลง และอีกอย่างมักใกล้ทางเข้า คนพิการเข้าออกสะดวก ไม่ต้องเดินหรือเข็นรถไกลๆ  ถ้าเราไม่ได้พิการ ก็อดทนเดินไกลหน่อย แม้แต่ในกรณีคนป่วยชั่วคราวเช่นขาหัก ขาเจ็บ แบบนี้ก็จอดได้ แต่ถ้าพิการแบบหูหนวก ตาบอดก็คิดว่าไม่เหมาะที่จะมาจอดที่คนพิการคะ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ แค่ดูที่ความเหมาะสม

อนาคตอยากให้มีห้องน้ำที่รองรับคนทุกกลุ่ม เช่น คนข้ามเพศที่เขาต้องมีห้องน้ำที่ไม่ระบุว่าชายหรือหญิง ห้องน้ำคนพิการก็เหมือนกันควรจะอยู่ด้านนอก เพราะบางคนต้องมีผู้ช่วยที่ต่างเพศเข้าไปด้วย มันก็ไม่สะดวก ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กก็ควรจะอยู่ด้านนอก เหมือนกันส่วนใหญ่อยู่ในห้องน้ำหญิง ซึ่งนั่นหมายถึงว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น อย่างที่บ้านมีลูกเล็ก เวลาไปข้างนอกพ่อเขาจะเป็นคนพาลูกไปห้องน้ำก็จะเจอปัญหา