Skip to main content

เมื่อมีคนพิการในบ้าน สิ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นอย่างแรกคงจะหนีไม่พ้นการเตรียมการดูแลคนพิการ การหาวิธีรักษา และการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ฯลฯ เพื่อเตรียมการสำหรับดูแลคนพิการหลังกลับจากโรงพยาบาล

แม้สิ่งที่ว่ามาข้างต้น จะดูเป็นงานที่ยุบยิบ ยุ่งเหยิง แต่มีอีกอย่างที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ภาวะจิตใจของคนดูแล หลายครอบครัวเมื่อต้องผันตัวเองมาเป็นคนดูแลคนพิการแบบกะทันหัน อาจเกิดจากเหตุการณ์ที่คนรักต้องล้มป่วยลงโดยไม่ได้คาดหมาย คนดูแลส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในสภาพผู้ดูแลมือสมัครเล่นพร้อมแบกความรับผิดชอบล้นฟ้าชนิดไม่รู้ตัว เมื่อเวลาผ่านไป คนดูแลส่วนหนึ่งเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองจากมือสมัครเล่นไปเป็นมืออาชีพ แต่ก็ยังพบว่า คนดูแลหลายคนปรับตัวไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพตั้งหลักไม่ทัน

ยิ่งเวลาจะผ่านไปนานหลายปี ช่วงเวลาที่ใช้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนที่รักของคนดูแลกลับกลายเป็นเวลาที่ตนเองมีความทุกข์ไปอย่างน่าเสียดาย ในฐานะผู้ดูแลคนพิการ หลายคนอาจเข้าใจว่าความรับผิดชอบหลักคือการบริการคนพิการ  แต่ความจริงแล้วสิ่งที่คนดูแลต้องรับผิดชอบนั้นคือตัวเอง ไม่ใช่คนพิการที่ดูแล เพราะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยวิธีการง่ายๆ ที่เราเรียนกรู้กันมาตั้งแต่เด็ก อย่างการรับประทานอาหารอย่างถูกสัดส่วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด และที่สำคัญ หาอะไรที่รื่นเริงบันเทิงใจทำสม่ำเสมอ การมอบความสุขให้กับตัวเองบ้างไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว แต่เป็นความฉลาดในการทำหน้าที่ผู้ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจเลือกเอาคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้

  • อย่าลืมชื่นชม รัก ให้เกียรติ และยกย่องในสิ่งที่ตัวเองทำบ้าง บอกตัวเองเสมอว่า กำลังทำงานที่ยากและควรได้รับเวลาที่เป็นส่วนตัว และได้อยู่กับตัวเอง
  • เมื่อมีคนมาเสนอความช่วยเหลือ ควรรับไว้ และบอกเขาว่า สามารถช่วยอะไรได้บ้าง
  • การ  “ดูแล”  นั้นคนละเรื่องกับการ  “ลงมือทำ”  สมัยนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ลองเปิดใจให้กว้างไว้สำหรับเทคโนโลยี หรือความคิดใหม่ที่จะช่วยให้คนพิการช่วยตัวเองได้ แม้จะไม่มีคุณก็ตาม
  • เสาะหาการช่วยเหลือจากผู้ดูแลคนพิการด้วยกัน การรับรู้ว่า เราไม่ได้เป็นคนเดียวที่เผชิญภาระนี้ นั้นจะช่วยเพิ่มพลังของเราได้มาก

เพราะจิตใจและความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ แต่ละฝ่ายก็อาจต้องทำความรู้จักกับภาวะกดดัน ความเครียด และวิตกกังวลเช่นกัน แม้อาจเกิดกันคนละรูปแบบ การรักษาเยียวยาจิตใจของแต่ละฝ่ายให้อยู่ในภาวะสมดุลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้ทั้งคนพิการ ไม่พิการ ดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจกันและกัน