Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล, Thisable.me,  บุญรอดบริวเวอรี่,  ประชาไท และ Die Kommune (ดี คอมมูเน) ได้จัดเสวนาวงที่ 2 ของปีนี้ว่าด้วยเรื่องชีวิตของคนออทิสติก “คนออฯ มีสิทธิไหมคะ?” เสวนาที่เล่าประสบการณ์โดยคนออทิสติกและดำเนินรายการโดยคนออทิสติกเพื่อเล่าถึงชีวิต การถูกเลือกปฏิบัติ ความเข้าใจผิดและชีวิตที่คนออฯ อยากมี โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ อัษฎากรณ์ ขันตี (อัษ) พนักงานฝ่ายไอทีจากมูลนิธิออทิสติกไทย เขาเป็นคนเพชรบุรี ปัจจุบันอายุ 28 , ชยุต หอมดี(ต่อ) เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจาก APCD  อายุ 25 ปี, พรนภาพรรณ สังวาลย์ทอง(เฟิร์น) นางงามแรงบัลดาลใจ และดำเนินรายการโดยชัชชญา สิริวัฒกานนท์ (บลูม)

 

 

คนออฯ มีภาพจำอะไร

ต่อ: เด็กเอ๋อ เด็กไม่เต็มบาท ไม่โตสักที หรือไม่ก็เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ บางคนก็เรียกหรือคุยด้วยแบบหยาบๆ เช่น เป็นเหี้ยอะไรเนี่ย คนออฯ ตอนเรียนก็มักโดนแกล้ง บางคนต้องลาออกจากโรงเรียนเพราะโดนแกล้ง ตอนทำงานก็ไม่มีคนจ้าง 

 

เฟิร์น: คนเห็นอาจจะมองว่าโครตอัจฉริยะ เก่งเลข เก่งโปรแกรม เหมือนกดสูตรโกงมา สุดท้ายจริงๆ เราไม่ได้เก่ง เราเก็บตัว มีเพื่อนในจินตนาการ บางทีถ้าโกรธก็ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นคนไม่ยืดหยุ่นอะไรเลย คนบอกก็บอกว่าคนออฯ ใช้ออทิสติกเป็นข้ออ้างในการทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง 

 

อัษ: สังคมบ้านเรามักมองว่ามีลูกเป็นออฯ คือทำเวรกรรมมาแต่ชาติก่อน เพราะบ้านเรามักอิงความเชื่อ ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกสมเพสเวทนา คนออฯ เข้าไม่ถึงโอกาส การเรียน สังคม หรืออาชีพ มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต คนในบ้านเรามองเราเป็นกลุ่มๆ ถ้าไม่เก่งมากก็เป็นคนร้ายเลย 

 

พรนภาพรรณ สังวาลย์ทอง(เฟิร์น)

 

ทำไมการจ้างงานถึงยากสำหรับคนออฯ

เฟิร์น: จากที่ไล่ดูหางานคนพิการ แต่ส่วนมากจะรับคนพิการร่างกายหรือสายตา คนออฯ พยายามเนียนไปกับคนปกติแต่ก็โดนปฏิเสธ บางงานต้องคุยกับคนเยอะๆ เราก็ทำไม่ได้ ตอนนี้เราก็หนีไปทำงานที่ไม่ต้องเจอคน เพราะไม่ถนัดทำงานกับสังคมและทีม หรือบางทีเราได้งานแต่เพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจ คนออฯ ก็รู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบ 

 

อัษ: เพราะคนพิการประเภทอื่นและคนทั่วไปมีสมองเหมือนกัน แต่กลุ่มเรามีความผิดปกติของระบบสมอง ทำให้เกิดผลกระทบ เช่น การฟัง คนอื่นต้องอธิบายชัดเจน ถ้าคนออไม่เข้าใจต้องอธิบายหลายครั้ง เพื่อนร่วมงานก็อาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอธิบายหลายรอบ นอกจากนี้คนออมีตารางเวลาของตัวเอง สี่ครึ่งต้องเลิก มีปัญหาเรื่องความยืดหยุ่น เขาเลยไม่กล้าให้ลองงานอื่น และลังเลว่าจะจ้างดีไหม และเรื่องอารมณ์ บางคนเก็บอารมณ์ไม่เป็น อยากระบายอะไรก็พูด ทำให้ร่วมงานกับคนอื่นไม่ค่อยได้ ทั้งที่จริงๆ คนออฯ เกิดความไว้ใจจึงระบายสิ่งต่างๆกับคนที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข และอาจเพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นต้องใช้การสังเกตมาก คนอื่นๆไม่อยากจะต้องมาสังเกต ด้วยเหตุผลเหล่านี้คนออฯ จึงถูกจ้างน้อยกว่า

 

ต่อ: การจ้างงาน นายจ้างมีความคาดหวังต่อคนงาน คนออฯหลายคนควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีหรือมีการควบคุมอารมณ์แตกต่างกันในแต่ละคน สังคมเองก็หวังว่าคนออฯ ต้องหายขาดเพราะคุณมีร่างกายครบ หรือหลายครั้งพอพอเห็นจุดเสียก็เลือกปฏิบัติโดยข้ามข้อดีไป

 

ชัชชญา สิริวัฒกานนท์ (บลูม)

 

ทำยังไงให้ที่ทำงานโอบรับพวกเรา

ต่อ: ต้องมีช่องทางในการแก้ปัญหาระยะยาวว่าเลือกปฏิบัติแล้วมีโทษอะไร มีการอบรมความเข้าใจ มีการสอนงาน สอนพนักงาน ว่าควรรับมือหรืออะไรที่คนออฯ อ่อนไหว ช่วงหลังมาการศึกษาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราก็ควรเชื่อมต่อว่าจะมีอะไรสนับสนุนได้บ้าง บางคนก็เปรียบเทียบว่าทำไมคนนั้นทำได้ คนนี้ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ควรเทียบเพราะขนาดเรา 4 คนยังมี 4 แบบ

 

เฟิร์น: เราควรฝึกคนตั้งแต่ราก การสร้างความเข้าใจเรื่องคนพิการก็เหมือนกัน ยิ่งเราพิการไม่ประจักษ์ การจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจต้องปลูกฝังตั้งแต่ราก ไม่งั้นจบไลฟ์นี้คนก็ลืม การเริ่มตั้งเเต่ต้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กน้อย ให้คนทุกกลุ่มได้เรียนรู้การอยู้ร่วมกัน ถึงแม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซน แต่แค่ทำก็เปลี่ยนแล้ว 

 

อัษ: ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ให้คนเข้าใจความหลากหลาย ผู้ปกครองก็ควรมีความเข้าใจเด็กหลากหลาย อยากให้มีคนสอน ฝึกงาน จ้อบโคช และฟื้นฟูฝึกทักษะต่างๆ 

 

อัษฎากรณ์ ขันตี (อัษ) พนักงานฝ่ายไอทีจากมูลนิธิออทิสติกไทย

 

ความสัมพันธ์ของคนออฯ เป็นอย่างไร

เฟิร์น: บางคนบอกคนออฯ แบ้วใส ไม่มีความรัก แต่ดิฉันรักกับแฟนนานมาก 7 ปีแล้ว เวลาเรารักใคร เราก็แสดงความรุ้สึกตรงๆ ลงมือจีบก่อน ก่อนหน้านี้เราโดนเฟรนโซนเพราะอาจจะมองว่าเรามีภาวะทางอารมณ์ เรามองว่า ขนาดตั้งวิหารให้มั่นคงยังต้องตั้งเสาห่างๆ เราต้องมีพื้นที่ตัวเองจึงทำให้เราสองคนไม่ก้าวก่ายกัน แต่จะมีพื้นที่คอมม่อนที่มีความรักและความเข้าใจ เขาช่วยสนับสนุนเรา ปรับให้เราดี สำหรับคนออฯ แล้วความรักก็เป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่สูญเสียคนในครอบครัวไปเราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องอยู่คนเดียว ความรักไม่ใช่รักกันแค่ข้อดี แต่คนออฯ มีด้านที่ไม่ีดีมากมาย เช่น ใช้ชีวิตแบบมีตาราง ผีเข้าผีออก ตัวเราเองไม่อยากมีลูกเพราะไม่อยากให้ลูกเกิดมาเจอการเลือกปฏิบัติ หรือสังคมที่มันเหลื่อมล้ำแบบนี้

 

ต่อ: พอคนถามว่ามีแฟนได้หรือเปล่า ผมก็หาข้อมูลว่าคนออฯ มีแฟนได้ไหม ผมเจอหลายคนที่พอเราเข้าหาก็เลิกเป็นเพื่อน แม้ผมไม่ได้อยากพึ่งพาคนรอบข้าง แต่สังคมยังมองว่าคนออฯ เป็นเอ๋อ ทำให้การมีแฟนเป็นเรื่องยากขึ้นกว่าความพิการประเภทอื่น สำหรับผมแฟนต้องเรียนรู้ความแตกต่างได้ หน้าตาหล่อสวยอยู่ได้ไม่นาน 50 ปีคุณจะยังรักเขาหรือเปล่า อีกคำถามก็คือคนออฯ มีลูกได้ไหม ถ้ามีลูกลูกจะเป็นออฯ ไหม ผมเองก็ไม่มีคำตอบในเรื่องนี้เพราะไม่ค่อยมีตัวอย่างคนที่มีลูก 

 

อัษ: คนออฯ เลือกได้ว่าจะมีเพื่อนแบบไหน จะคบกับใคร ขอเพียงแค่สังคมยอมรับ ให้โอกาส เข้าใจ ให้อภัยว่าเขาคือเพื่อนคนหนึ่ง คนออฯ อาจจะเก็บอารมณ์ไม่เก่งหรือไม่เป็น แต่ท่านต้องอดทนอดกลั้นนิสนึง เวลาจะพูดกับคนออฯ ต้องพูดด้วยเหตุผล การพูดให้เห็นภาพสำหรับผมเป็นเรื่องจำเป็นมาก 

 

 ชยุต หอมดี(ต่อ)

 

จริงเหรอที่คนออฯ มักใสซื่อ ไม่รู้เรื่องเพศ

ต่อ: อารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องปกติ วัยรุ่นพูดกันเยอะ หากคนออฯ พูดก็จะโดนว่าว่าขี้ลามก ไม่สมประกอบแล้วพูดได้ยังไง แต่ขนาดสัตว์ยังมีอารมณ์ คนออฯ ต่อให้พิการเขาก็ต้องมีอารมณ์ทางเพศ สังคมไทยมองอย่างเดียวว่า อย่ามีเลยเดี๋ยวผิดศีล หรือไม่ก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไรจึงมัวแต่ปิดกั้นและไม่สอนให้เข้าใจ 

 

เฟิร์น: พอเป็นออฯ และชะนี คนมองว่าต้องแบ้วใสและเวอร์จิ้น แต่จริงๆ แล้วข้างในเราก็เป็นคนคนหนึ่ง หนังโป๊ก็ดู ทอยก็มีไม่ต่างจากคนธรรมดา มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนออฯ ก็เหมือนเด็กกำลังโตคนหนึ่ง แม้อาจจะโตช้า แต่ยังไงสุดท้ายเขาก็หาวิธีเข้าถึงจนได้ สมัยนี้ไม่ต้องไปซื้อหนังสือ ซื้อแผ่นแล้ว ถ้ามีการสอนที่ดีเขาก็จะรู้วิธีป้องกัน การควบคุมอารมณ์ว่าเจอสถานการณ์แบบนี้ทำแบบไหนถึงจะดี หรือจะได้หาสถานการณ์ที่ชิบหายน้อยที่สุด สำหรับเรา ถ้าให้แนะนำก็คงเป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบ fwb ที่มันซับซ้อน อยากรักสนุกไม่อยากสัมพันธ์ นั้นไม่เหมาะกับคนออฯ เพราะคนออฯ จะรักก็รักมาก เราแยกความรู้สึกไม่ออก มีเซ็กส์ก็เหมือนกินเหล้า มีแล้วก็ต้องรับผิดชอบด้วย

 

 

คิดยังไงกับเมื่อมีอะไรไม่ดี ใช้ความเป็นออฯ เป็นข้ออ้าง 

อัษ: เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก คนออฯ มีอะไรจะพูดหรือแสดงออกตรงๆ แต่การพาดหัวข่าวทำให้คนออฯ เป็นแพะนั้นไม่ถูกต้อง คนเขียนควรมีความเข้าใจ อยากขอร้องให้เลิกเหมารวม เลิกมีอคติ ผมเบื่อมากเวลาคนทำอะไรผิดแล้วมาอ้างคนพิการ แต่ไม่ได้เข้าใจข้อเท็จจริง และรายละเอียด ขอว่าอย่านำความพิการมาเป็นข้ออ้าง ควรให้โอกาสคนพิการได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข 

 

ต่อ: ผมว่าควรสืบประวัติว่าเป็นจริงไหม อะไรทำให้เขาทำร้ายคน เขาอาจจะทำร้ายคนอื่นเพราะถูกกลั้นแกล้งหรือเปล่า แต่อย่าใช้ออทิสติกเป็นข้ออ้าง บ้านเราสร้างออทิสติกเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบของตัวเอง กดให้คนออฯ ตกต่ำลง

 

เฟิร์น: ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ ไม่ว่าเพราะยีนหรือพันธุกรรมอาจส่งออทิสติกมาให้ แต่การเป็นออฯ ไม่ใช่เหตุผลให้สังคมเลือกปฏิบัติหรือบูลลี่ การสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เอื้อ คนก็เก็บจนเป็นระเบิดเวลา สื่อก็เล่นข่าวร้ายๆ เพราะขายดีกว่า บางคนก็เอาความผิดปกตินี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อพ้นผิด คนแบบพวกเราจึงกลายเป็นจำเลยสังคม การเลือกปฏิบัติก็ยิ่งหนักกว่าเดิม กฏหมายเองก็เน้นการปราบปราม ไม่เน้นลดการทำซ้ำแล้วกลับมาอยู่ในสังคม ยิ่งในเคสที่ตรวจว่าสรุปแล้วไม่ใช่คนออฯ สังคมก็ไม่ได้ขอโทษเรา แต่เรากลายเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว 

 

 

เป็นคนออฯ ผู้หญิงชีวิตเป็นอย่างไร

เฟิร์น: เราย้ายโรงเรียนทุกสามปีเพราะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เป็นตัวประหลาด ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะมีแฟน แต่พอเราโตขึ้นแล้วก็ได้รู้ว่าคนออฯ ก็มีความสามารถ สามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้ แต่คนมักจะมองว่าเราดูแลตัวเองไม่ได้ ตอนประกวดนางนพมาศเราโดนแม่ด่าเป็นอาทิตย์ คราวหลังเลยไม่บอกว่าจะประกวด จริงๆ คนออฯ ที่เข้าประกวดมีเยอะแยะ แต่เราเป็นคนไทยคนแรก ที่ประกวด คนก็หาว่าหิวกระแส ตรงข้ามกับเราที่รู้สึกขอบคุณโอกาสและแสงที่ทำให้มีพื้นที่ในการสื่อสาร 

 

คนออฯ ดูแลตัวเอง อยู่คนเดียวได้ไหม

ต่อ: คนออฯ ดูแลตัวเองและอยู่คนเดียวได้ แม้ผมไม่เก็บผ้า ไม่เก็บที่นอน ผมก็อยู่คนเดียวได้ จ่ายเงินค่าหอได้ แต่ขณะเดียวกันคนออฯ ส่วนมากอยู่กับพ่อแม่ บางคนพ่อแม่กีดกัน ห่วงจนแทบจะเป็นพระเจ้าคุ้มครองลูก ลูกก็รู้สึกว่าติดกับที่บ้านหรือพ่อแม่ที่เอาแต่บอกว่าลูกทำนั่นนี่ไม่ได้ ขนาดล้างจาน เก็บผ้ายังไม่ได้แล้วจะไปอยู่คนเดียวได้ยังไง แต่สำหรับผมคิดว่า การอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ พ่อแม่จะมองเรื่องเล็กๆ แล้วมาตัดสินว่าอยู่ไม่ได้ก็คงไม่ถูก

 

เฟิร์น: เราไปอยู่หอ 6 เดือน ตอนแรกเรากระหายอิสรภาพ แต่พอไม่ดีก็อยากกลับมา นอกจากนี้เรามีเป้าหมายหลายอย่าง เช่น นั่งรถไฟคนเดียว เรียนต่อต่างประเทศ แต่ความฝันจะถูกดักไว้กับคำว่า จะอยู่ไหวเหรอ จริงๆ งานบ้านเราทำได้แต่แค่ตอนนี้ขี้เกียจ หรือการถนัดมือซ้ายทำให้ทำอาหารยากขึ้น อะไรในครัวไม่อำนวย ก็โดนสั่งห้ามเข้าครัว เราจึงมองว่าสำหรับคนออฯ การเพิ่มทักษะเอาตัวรอดให้คนก็จำเป็นเหมือนกัน 

 

อัษ: ผมมองว่าคนออฯ สามารถเดินทาง ใช้ชีวิตและดีไซน์ชีวิตได้ เพียงแต่ว่าสังคมต้องเรียนรู้เข้าใจและใจกว้างมากพอ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต เรามีสิทธิในการตัดสินใจ การทำธุรกรรมต่างๆ อาจต้องมีผู้ช่วยในการดูแลเงิน ด้วยความที่ผมไม่ค่อยคิดเยอะ อาจเสี่ยงในเรื่องการหาผลประโยชน์ได้ง่าย